กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--เวิรฟ
คอตตอน ยูเอสเอ สานต่อแผนการตลาดเชิงรุก เดินหน้าตอกย้ำสัญลักษณ์คุณภาพ “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) จัดงบ 22 ล้านบาท ตั้งเป้าการติดป้ายสัญลักษณ์เพิ่ม 7.7 ล้านชิ้นภายในสิ้นปี 2555 เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจถึงคุณภาพของสินค้าที่ผลิตจากฝ้ายคุณภาพ 100% ที่มีส่วนผสมของฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 50% หลังจากผลสำรวจของ “COTTON USA Mark Tracking Survey ประจำปี 2554” พบคนไทยยินดีจะจ่ายเงินเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สวมใส่สบาย คุ้มค่าเงิน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพบว่า “ฝ้าย” เป็นเส้นใยธรรมชาติที่ผู้บริโภคกว่า 57% พูดถึงเมื่อนึกถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอภายในบ้าน
นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย กล่าวว่า การสำรวจ “COTTON USA Mark Tracking Survey” เป็นการสำรวจเพื่อวัดผลประสิทธิภาพและการรับรู้ของผู้บริโภคที่มีต่อเครื่องหมายการค้า “คอตตอน ยูเอสเอ” เพื่อเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของคู่แข่ง ตลอดจนทัศนคติและพฤติกรรมต่อการซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้าของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งคอตตอน ยูเอสเอ จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกๆ 2 ปี โดยมอบหมายให้ บริษัท ดิ อินเตอร์แอคทีฟ รีเสิร์ช จำกัด เป็นผู้ดำเนินการสำรวจ โดยมีกลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มผู้อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร ที่มีอายุระหว่าง 15-54 ปี และมีรายได้ครอบครัวต่อเดือนมากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป จำนวน 500 คน โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นผู้หญิงอายุระหว่าง 25-34 ปี และกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปทั้งชายและหญิงอายุระหว่าง 15-54 ปี
จากผลวิจัยพบว่า “ผู้บริโภคชาวไทยยังคงความถี่ในการเลือกซื้อเสื้อผ้าโดยเฉลี่ย 1 ครั้งต่อเดือน แต่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อการซื้อเสื้อผ้าในแต่ละครั้งลดลงเหลือเพียง 2,596 บาท จากเดิม 4,282 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในปี 2552 ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากความระมัดระวังในการจับจ่ายของผู้บริโภค เนื่องมาจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจ โดยผู้บริโภคหญิงจะให้ความสำคัญไปที่สินค้าที่ลดราคาตั้งแต่ 20% ขึ้นไป นอกจากนี้จากผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มของการแต่งกายในชีวิตประจำวันในอีก 12 เดือนข้างหน้า ผู้บริโภคจะเน้นการการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าแคชชวลสำหรับไปทำงานมากขึ้น และยีนส์จะเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคให้ความนิยมสำหรับการสวมใส่ไปทำงานมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นเป็น 51% จาก 34% ในปี 2552”
สำหรับพฤติกรรมการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฝ้าย 100% พบว่าผู้บริโภคทุกเพศ และกลุ่มอายุเห็นตรงกันว่า “ฝ้าย” เป็นเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเป้าหมายหลัก ที่มีรายได้ 40,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปเห็นด้วยกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของฝ้ายถึง 100% ทั้งนี้ผู้บริโภคประมาณ 2 ใน 3 ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สวมใส่สบาย คุ้มค่าเงิน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงานในช่วงอายุ 25-34 ปี จะนิยมซื้อเสื้อผ้าและสิ่งทอที่ใช้ภายในบ้านที่ทำจากผ้าฝ้ายแท้ 100% ซึ่งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของชุดชั้นในได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นถึง 10% และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงสุดในเพศหญิงอยู่ในช่วงวัยทำงานอายุระหว่าง 25-34 ปีที่ปริมาณในการซื้อถึง 34% ตามมาด้วยช่วงอายุ 45-54 ปี ที่ 31% ในขณะที่เพศชาย กลุ่มที่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจาก “ฝ้าย 100%” มากที่สุด อยู่ในช่วงอายุ 45-54 ปี โดยมีปริมาณการซื้อประมาณ 28%
นายไกรภพ กล่าวต่อว่า “ในแง่ของการรับรู้สัญลักษณ์ “คอตตอน ยูเอสเอ” หลังทำการแนะนำพบว่ากลุ่มเป้าหมายทั่วไปมีการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น 4% เป็น 43% จากเดิมที่มีเพียง 39% ในปี 2552 โดยช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือ จุดขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีผลถึง 31% ในกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป และ 32% ในกลุ่มเป้าหมายหลัก ตามมาด้วยโทรทัศน์ นิตยสารและหนังสือพิมพ์ และกว่า 50% ของกลุ่มทั่วไปและกลุ่มเป้าหมายหลักมองว่า ป้ายแขวนสัญลักษณ์ “คอตตอน ยูเอสเอ” บนสินค้า มีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อเนื่องจากสามารถสื่อถึงคุณภาพ ความรู้สึกสบายในการสวมใส่ ความอ่อนนุ่ม เป็นเส้นใยที่ทำจากธรรมชาติ มีความทนทาน และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีป้ายแขวนสัญลักษณ์ติดอยู่บนสินค้ามากถึง 50%”
“ในปีพ.ศ. 2555 ที่กำลังจะถึงนี้ คอตตอน ยูเอสเอ วางแผนใช้งบการตลาดรวม 22 ล้านบาท พร้อมเพิ่มช่องทางการสื่อสารทั้งอะโบฟเดอะไลน์และบีโลว์เดอะไลน์ ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ เพื่อตอกย้ำการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายถึงคุณประโยชน์ต่างๆ ของฝ้ายธรรมชาติ 100% ตลอดจนคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ใช้ฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาเป็นวัตถุดิบหลัก และเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตราสัญลักษณ์ “คอตตอน ยูเอสเอ” อีกทั้งเตรียมพัฒนาจุดขายสินค้าต่างๆภายในห้างสรรพสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะจัดเทรนนิ่งให้กับพนักงานขายของไลเซนซีแบรนด์ต่างๆ (Sales Training) เพื่อสร้างความเข้าใจในคุณสมบัติของผ้าฝ้าย รวมถึงวิธีการแนะนำลูกค้าถึงความสำคัญของการติดป้ายแขวนสัญลักษณ์ “คอตตอน ยูเอสเอ” บนตัวสินค้า โดยคอตตอน ยูเอสเอ วางเป้าหมายเพิ่มจำนวนไลเซนซีในประเทศไทยอีกประมาณ 3 ราย ทั้งไลเซนซีจากแบรนด์เครื่องนุ่งห่ม และโรงงานสิ่งทอต่างๆ จากจำนวนไลเซนซีในปัจจุบันของคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 43 ราย แบ่งเป็นแบรนด์เครื่องนุ่งห่ม 25 แบรนด์ และโรงงานสิ่งทอ 18 แห่ง และตั้งเป้าการติดป้ายสัญลักษณ์คอตตอน ยูเอสเอ ในปี 2555 ไว้ที่ประมาณ 7.7 ล้านชิ้น” นายไกรภพ กล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับคอตตอน ยูเอสเอ (COTTON USA)
เครื่องหมาย “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) ได้รับการออกแบบและเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1989 โดย คอตตอน เคาน์ซิล อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ ซีซีไอ (COTTON COUNCIL INTERNATIONAL: CCI) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ เนชั่นนัล คอตตอน เคาน์ซิล (National Cotton Council) ประเทศสหรัฐอเมริกา เครื่องหมาย “คอตตอน ยูเอสเอ” เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์แห่งคุณภาพ ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนผสมของฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน คอตตอน ยูเอสเอมีตัวแทนกว่า 26 แห่ง ทั่วโลก ในประเทศไทย “คอตตอน ยูเอสเอ” ทำหน้าที่ขยายฐานกลุ่มไลเซนซี (Licensees) ของ คอตตอน ยูเอสเอ ในประเทศไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้ผลิต แบรนด์ และผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ใช้ฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาเป็นวัตถุดิบหลัก นอกจากนี้ “คอตตอน ยูเอสเอ” ยังมุ่งเน้นสร้างความพึงพอใจเกี่ยวกับฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาในกลุ่มผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับฝ้าย เส้นใยธรรมชาติ ที่สามารถปลูกทดแทน และให้ความสบายเมื่อสวมใส่
ภาพประกอบข่าวประชาสัมพันธ์
นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ประเทศไทย
สัญลักษณ์คุณภาพ “คอตตอน ยูเอสเอ” (COTTON USA) สัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงผลิตภัณฑ์แห่งคุณภาพ ผลิตจากฝ้ายธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนผสมของฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฝ้าย 100% ตลอดจนทัศนคติและพฤติกรรมต่อการซื้อสินค้าประเภทเสื้อผ้า