กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--ปภ.
กรมป้องกันฯ เตือนภัยช่วงหน้าหนาว ว่า อาจเกิดน้ำค้างแข็ง ไฟป่า ในบางจังหวัดของภาคเหนือ —อีสาน โดยเฉพาะอีสาน และภาคตะวันออก อาจต้องประสบภัยแล้งที่รุนแรง เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญๆ มีปริมาตรต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกชุก และได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึง แนวโน้มการเกิดภัยในช่วง ฤดูหนาวของประเทศไทย ว่า ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีอากาศหนาวเย็นก่อนภาคอื่นๆ ซึ่งในช่วงแรกที่ลมหนาวพัดปกคลุม จะมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ทำให้อากาศเย็นและอุณหภูมิลดลง และในช่วงเดือนธันวาคม — มกราคม ซึ่งเป็นช่วงกลางของฤดูหนาว อุณหภูมิจะลดลงอีก เฉลี่ยประมาณ 12 — 18 องศาเซลเซียส และตั้งแต่ภาคกลางลงมาประมาณ 19 — 24 องศาเซลเซียส ทำให้มีน้ำค้างแข็งได้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ตาก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู และนครพนม ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกจะมีอากาศค่อนข้างหนาว และมีหมอกในตอนเช้า สำหรับภาคใต้จะมีฝนตกชุก จากนั้นประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ลมหนาวจะมีกำลังอ่อนลง อากาศเริ่มอุ่นขึ้น นับเป็นการสิ้นสุดฤดูหนาว
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ลมหนาวที่พัดปกคลุมพื้นที่ต่างๆ นอกจากจะทำให้มีอากาศหนาวเย็นแล้ว ยังทำให้อากาศแห้ง ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำ เป็นเหตุให้เกิดภัยแล้งได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป และจะรุนแรง ขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งมีระบบบริหารจัดการด้านน้ำไม่ดี โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก สถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงและครอบคลุมพื้นที่มากกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อุบลรัตน์ มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล มีปริมาตรน้ำ เก็บกักอยู่ระหว่าง 35 — 45 % ของระดับน้ำเก็บกักของอ่างฯ เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรได้ นอกจากนี้ สภาพอากาศที่แห้ง ยังทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ความชื้นของเชื้อเพลิงลดลง ดัชนีการเกิดไฟป่าอยู่ในระดับสูงมาก จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าขึ้นได้ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ดอยภูคา ทับลาน ภูหินร่องกล้า ดอยหลวง ห้วยน้ำดัง ไทรโยค แจ้ซ้อน น้ำหนาว และอุทยานลำน้ำน่าน เป็นต้น สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงเดือนตุลาคม — พฤศจิกายน จะได้รับอิทธิพลจากร่องฝนพาดผ่าน ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่น และตกหนักในบางพื้นที่ และอาจมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่าน ทำให้ฝนตกหนัก เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่เสี่ยงภัย และอาจเกิดดินถล่มขึ้นได้ในพื้นที่ใกล้ภูเขาสูงในจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล โดยเฉพาะในช่วงที่พายุพัดเข้าชายฝั่ง จะทำให้ทะเลมีคลื่นจัดถึงจัดมากสูงประมาณ 2 — 4 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวัง และติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด--จบ--