กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. สั่งให้บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“PICNI”) แก้ไขงบการเงินประจำปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ในเรื่องการจัดทำงบการเงินรวมและการบันทึกมูลค่าบริษัทย่อยที่ซื้อมาในปี 2547 และให้นำส่งงบการเงินที่แก้ไขและผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 13 พฤษภาคม 2548
สาเหตุของการสั่งการดังกล่าวเนื่องจาก
1. PICNI มีการทำธุรกรรมกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงบรรจุแก๊ส 10 ราย ในลักษณะที่พิจารณาได้ว่า PICNI มีอำนาจควบคุมบริษัทเหล่านั้น ซึ่งเข้าข่ายจะต้องนำมาทำงบการเงินรวม แม้ว่า PICNI ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว
ในปี 2547 PICNI ได้เปลี่ยนวิธีการให้โรงบรรจุแก๊ส 10 รายดังกล่าวใช้ถังแก๊ส กล่าวคือ จากเดิมที่โรงบรรจุแก๊สเคยจ่ายเพียงค่ามัดจำถัง และสามารถใช้ประโยชน์จากถังแก๊สได้โดยไม่มีกำหนดเวลา รวมทั้งสามารถเรียกเงินมัดจำคืนได้เมื่อไม่ต้องการใช้ถังแก๊ส เปลี่ยนเป็นให้โรงบรรจุแก๊สดังกล่าว ทำสัญญาเช่าถัง 3 ปี โดยจ่ายค่าเช่ารายปี (เงินค่าเช่ารวมก็เป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับเงินค่ามัดจำเดิม) จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว PICNI ได้บันทึกค่าเช่าถังแก๊สเป็นรายได้ 178 ล้านบาทในปี 2547
ก.ล.ต. ได้พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับโรงบรรจุแก๊สดังกล่าว เช่น ประวัติการจัดตั้ง ฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน รวมทั้ง ความเกี่ยวข้องกันเองระหว่างผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือผู้มีอำนาจลงนามร่วมกัน โดยบางรายเป็นผู้ถือหุ้นใน PICNI หรือเกี่ยวข้องกับผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ PICNI และเห็นว่าโรงบรรจุแก๊สดังกล่าวเข้าข่ายทางพฤตินัยถูกควบคุมกิจการโดย PICNI
ก.ล.ต. จึงสั่งการให้ PICNI นำงบการเงินของบริษัทที่ประกอบธุรกิจโรงบรรจุแก๊สเหล่านั้นมาจัดทำ
งบการเงินรวม เพื่อให้สะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินที่แท้จริงของกลุ่มบริษัท PICNI ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 44 เรื่อง งบการเงินรวมและการบัญชีสำหรับเงินลงทุนในบริษัทย่อย
2. PICNI ซื้อบริษัทย่อย 2 แห่ง ในปี 2547 แต่เนื่องจากทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ซื้อนั้นเป็นค่าความนิยม (goodwill ) ซึ่งสูงถึง 1,049 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าที่จ่ายซื้อ (1,481 ล้านบาท) และ ราคาที่ซื้อเมื่อเปรียบเทียบกับผลกำไรปีล่าสุดของบริษัทย่อยทั้งสองของปี 2547 ซึ่งรวมกันมีเพียง 8 ล้านบาท ทำให้เห็นว่า ค่าความนิยมดังกล่าวอาจด้อยค่าและไม่สามารถให้ประโยชน์แก่ PICNI ได้ถึง 20 ปี ตามนโยบายบัญชีที่บันทึกอยู่
ก.ล.ต. จึงสั่งการให้ PICNI ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและแผนงานอนาคตทางธุรกิจของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง เพื่อเปรียบเทียบกับค่าความนิยมที่ปรากฏอยู่ในบัญชี ทั้งนี้ หากปรากฏว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่งไม่คุ้มกับค่าความนิยม PICNI จะต้องตัดค่าความนิยมดังกล่าวเป็น
ค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงาน และปรับปรุงในงบการเงินปี 2547 ด้วย--จบ--