กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--พม.
เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต (กคช.) ได้ประชุมครั้งที่ ๓/๒๕๕๔ โดยมี นายโกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในการประชุมเรื่องเร่งรัดการใช้จ่ายเงินในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และสรุปผลการพิจารณาค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ โดยแบ่งเป็น ๓ ระยะ ได้แก่ ระยะที่ ๑ ระยะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระยะที่ ๒ ระยะการช่วยเหลือระหว่างที่ระดับน้ำในพื้นที่ยังท่วมสูง และระยะที่ ๓ ระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยโครงการด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิตระยะที่ ๑-๓ ขอกรอบวงเงิน ๑๐,๙๕๐,๑๕๘,๗๐๐ บาท
ทั้งนี้ มีส่วนราชการที่ได้รับการพิจารณาค่าใช่จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิตในบางส่วน โดยสำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณาอนุมัติที่กรอบวงเงิน ๑,๗๔๔,๑๘๙,๑๐๐ บาท และกรอบวงเงินที่ไม่ได้รับการพิจารณา ๙,๒๐๕,๙๖๙,๖๐๐ บาท สำหรับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับการพิจารณาอนุมัติที่กรอบวงเงิน จำนวน ๑๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในโครงการอาชีวบำบัดเพื่อสรรสร้างคุณภาพชีวิตและกำลังใจ (ระยะที่ ๒) โดยทางกระทรวงมีการกำหนดแนวคิดสำคัญในการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต เพื่อให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ คือ “กินอิ่ม นอนอุ่น มีรายได้ ไร้โรคา พร้อมพัฒนา รักษาจิตใจ” ซึ่ง กินอิ่ม หมายถึง ไม่มีคนเสียชีวิตเพราะอาหารและน้ำดื่มที่เพียงพอและสะอาด , นอนอุ่น หมายถึง ไม่มีคนไร้ที่อยู่อาศัย ที่นอน เครื่องนุ่งห่ม ทั้งเสื้อผ้าและผ้าห่มกันหนาว , มีรายได้ หมายถึง มีงานทำ มีอาชีพ และมีรายได้ พอเลี้ยงตนเองและครอบครัว ใกล้เคียงกับภาวะก่อนเกิดภัยพิบัติ , ไร้โรคา หมายถึง ไม่เป็นโรคระบาดอันเนื่องมาจากอุทกภัย และได้รับการรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพร่างกายที่บาดเจ็บหรือพิการ , พร้อมพัฒนา หมายถึง ได้เรียนหนังสือตามปกติ พร้อมด้วยอุปกรณ์การเรียน ได้รับการอบรมความรู้ด้านอาชีพที่เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงความรู้ที่จำเป็นต่อการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ และ รักษาจิตใจ หมายถึง ได้รับการส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพจิต
นอกจากนี้ คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต (กคช.) ได้พิจารณาวางแนวทางรองรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ซึ่งมีพื้นที่ได้รับผลกระทบและประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ใน ๘ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง ตรังสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช นราธิวาส สงขลา ยะลา และปัตตานี มีจำนวนผู้ประสบภัย ๔๗๒,๒๒๗ ราย เสียชีวิตจำนวน ๑๐ ราย ซึ่งจะหาแนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้ในระยะต่อไป