อพท. เร่งรัดปรับปรุงท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้าและบ้านสลักเพชร ระยะที่ ๒

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday December 28, 2011 13:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--อพท. นายดำรงค์ แสงกวีเลิศ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวถึงโครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้าและท่าเทียบเรือบ้านสลักเพชรว่า ท่าเทียบเรือทั้ง ๒ แห่งนี้ นับเป็นการพัฒนาและเตรียมระบบการบริการขั้นพื้นฐานแก่ชุมชนและนักท่องเที่ยวให้เกิดความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และมีสภาพกลมกลืนสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงให้มีความยั่งยืนในระยะยาว อพท. จึงได้ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งแบ่งการดำเนินงานเป็น ๒ ระยะ โดยระยะที่ ๑ ได้ดำเนินการด้านโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการในระยะที่ ๒ ซึ่งเป็นการปรับปรุงท่าเทียบเรือทั้ง ๒ แห่งให้มีความสมบูรณ์ มีอาคารบริการสิ่งอำนวยความสะดวก และปลอดภัย เพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการฯ ระยะที่ ๒ ให้แล้วเสร็จให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว สำนักแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษ (สผพ.) จึงร่วมมือกับ สำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.๑) สำรวจพื้นที่โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้าและบ้านสลักเพชร ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๗-๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เพื่อนำข้อมูลจากการสำรวจล่าสุด มาวางแผนเร่งรัดการดำเนินการให้สามารถก่อสร้างระยะที่ ๒ ให้แล้วเสร็จและใช้งานได้โดยเร็วต่อไป เนื่องจากการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนจะต้องประสานภาคีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เมื่อต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา อพท. โดย สผพ. และ สพพ.๑ ได้ร่วมกับส่วนราชการท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง จัดเวทีประชาพิจารณ์โครงการปรับปรุงแก้ไขแบบรายละเอียดท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้าครั้งที่ ๑ ซึ่งปรากฏผลว่า ประชาชนทุกรายในพื้นที่โดยรอบท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้าเห็นชอบด้วยกับแบบรายละเอียดการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้า ระยะที่ ๒ ดังกล่าว โดยไม่มีข้อคิดเห็นแย้งแต่ประการใด ซึ่งตามแผน อพท. จะจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นชุมชนอีก ๑ ครั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เพื่อชี้แจงให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้รับรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างท่าเทียบเรือทั้ง ๒ แห่ง อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน และกระบวนการตามมาตรฐานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ท่าเทียบเรือบางเบ้า การดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้า ที่ผ่านมาได้ทำการก่อสร้างในระยะที่ ๑ วงเงิน ๕๒.๘๐ ล้านบาท และปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการในระยะที่ ๒ ซึ่งจะต้องปรับแบบการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม ๒๕๕๕ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อร้านค้า และชุมชน ๒ ข้างทางท่าเทียบเรือ ส่วนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น คาดว่าสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายหลังจากมีการปรับแบบรายละเอียดการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม ๒๕๕๕ และการจัดรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination : IEE) เพื่อใช้ในการกำกับการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน ๒๕๕๕ และผ่านการพิจารณาอนุมัติและมอบหมายว่าจะให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕ ประกอบด้วย ๖ ส่วนที่สำคัญ คือ ๑) สะพานทางเดินใหม่ เพื่อเชื่อมสะพานในระยะที่ ๑ ให้สอดคล้องกับระยะที่ ๒ ซึ่ง ๒ ข้างทางมีชุมชนพักอาศัย และแก้ไขปัญหาการทรุดตัวของทางเดิน ระยะ ๕๐๐ เมตร ซึ่งเป็นผลจากแรงปะทะของเรือที่วิ่งมาจอดท่าเทียบเรือบางเบ้า ๒) ราวทางเดินตลอดเส้นทาง เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนพลัดตกลงไป ๓) ดำเนินการระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง ๔) จัดสร้างศาลาพักคอย และศาลาริมทาง ๕) จัดทำป้ายบอกทางและสัญลักษณ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการภายในบริเวณท่าเทียบเรือบางเบ้า ๖) แนวทางการกำกับการก่อสร้างที่กำหนดขึ้นจากรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ท่าเทียบเรือบ้านสลักเพชร เช่นเดียวกันกับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้า ท่าเทียบเรือบ้านสลักเพชรได้ทำการก่อสร้างตามแบบ ในระยะที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ด้วยวงเงิน ๔๕.๘๐ ล้านบาท และทิ้งช่วงการพัฒนาไปเพราะขาดเงินงบประมาณดำเนินการ สำหรับการดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงท่าเทียบเรือบ้านสลักเพชร ระยะที่ ๒ สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที หลังจากได้รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยแนวทางการกำกับการก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม ๒๕๕๕ ซึ่งจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ก่อนท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้า เพราะไม่ต้องปรับแบบการก่อสร้าง ทั้งนี้ ประมาณต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๕ อพท. จะจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กรมเจ้าท่า เพื่อส่งมอบงบประมาณการก่อสร้าง จำนวน ๓๐ ล้านบาท ให้กรมเจ้าท่าเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งกรมเจ้าท่าจะต้องไปดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างท่าเทียบเรือบ้านสลักเพชร และการก่อสร้างอาคารบริการนักท่องเที่ยวบนฝั่ง ผ่านกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลา ๑ ปี และจะสามารถเปิดใช้ท่าเทียบเรืออย่างเป็นทางการราวต้นปี ๒๕๕๖ สำหรับเรื่องการบริหารจัดการ กรมเจ้าท่าจะต้องส่งมอบสะพานท่าเทียบเรือทั้ง ๒ แห่ง ให้อุทยานแห่งชาติเกาะช้าง (ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่) เป็นผู้พิจารณาว่าจะบริหารเอง หรือส่งมอบต่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการท่าเทียบเรือบ้านสลักเพชรหรือไม่อย่างไร นายดำรง แสงกวีเลิศ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๕๕ จะมีโครงการพัฒนาในพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ๑๘ โครงการ และมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับท่าเทียบเรือทั้ง ๒ โครงการ คือ โครงการศึกษาระบบการบริหารจัดการและเก็บรายได้ท่าเทียบเรือต้นแบบ เพื่อให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมเรือแก่นักท่องเที่ยวหรือ Tour Operator อย่างเป็นธรรม และสามารถนำรายได้จากค่าธรรมเนียมเหล่านี้มาใช้เป็นค่าดูแลและบำรุงรักษาท่าเทียบเรือในระยะยาว และเป็นต้นแบบการพัฒนาในแหล่งอื่น ๆ ต่อไป นอกจากการพัฒนาท่าเทียบเรือบ้านบางเบ้าและบ้านสลักเพชรแล้ว ยังมีโครงการปรับปรุงโรงคัดแยกขยะที่เกาะช้าง ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว ติดต่อ: ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ติดต่อได้ที่: chompunuth.t@dasta.or.th โทร. 0841637599

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ