กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--m and m communication
อพท. ชงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย — ศรีสัชนาลัย — กำแพงเพชร เป็น “ต้นแบบ” การบริหารจัดการพื้นที่พิเศษเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการและผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวย้ำเตือน เมืองสุโขทัย — ศรีสัชนาลัย — กำแพงเพชร เป็นเมืองที่คนไทยต้องไม่ลืม ไม่ใช่เพราะเป็นเมืองมรดกโลก แต่เป็นมรดกของคนไทยทั้งประเทศ
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการและผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า “เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการประกาศอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย — ศรีสัชนาลัย — กำแพงเพชร เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าให้เป็นต้นแบบของการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดย อพท. ร่วมกับจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย — ศรีสัชนาลัย — กำแพงเพชร และจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม ๑๙ ตำบล มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม ๑,๓๔๒ คน ผลปรากฏว่าร้อยละ ๙๙.๔๘ เห็นด้วยกับการประกาศพื้นที่พิเศษ จากการศึกษาพบว่า จังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่กลับไม่ได้รับการกล่าวถึงมากเท่าไหร่ในแง่ของการประชาสัมพันธ์และการตลาด เนื่องด้วยการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่ยังไม่ค่อยสมบูรณ์นัก และกิจกรรมการท่องเที่ยวมีเพียงในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์เท่านั้น ส่งผลให้ทั้งสองจังหวัดเป็นเพียงแค่เมืองผ่าน นักท่องเที่ยวไม่นิยมแวะพักค้างคืน โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ รายได้การท่องเที่ยวรวมของทั้งสองจังหวัดมีประมาณ ๕,๐๑๙ ล้านบาท ทั้งนี้ หน่วยงานที่กำกับดูแลแหล่งท่องเที่ยวเขตโบราณสถานคือกรมศิลปากร ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งในด้านงบประมาณและความรับผิดชอบจำเพาะในเรื่องการอนุรักษ์ โดยปัญหาหลักในพื้นที่คือการใช้ประโยชน์ที่ดินทับซ้อน และการขาดโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยว”
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค เปิดเผยว่า “เป็นที่น่าเสียดายที่ทรัพยากรการท่องเที่ยวของทั้ง ๓ อุทยานประวัติศาสตร์ไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างเพียงพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตระหนักชัดถึงความสำคัญที่องค์การ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งการประกาศได้ครอบคลุมพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เพราะสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากกว่า ๗๐๐ ปี มีความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ดังปรากฏให้เห็นเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆ เช่น พระปางลีลา ประติมากรรมลอยตัวที่วัดสระศรี หรือประติมากรรมนูนต่ำที่วัดตระพังเงิน ซึ่งเป็นที่ปางได้รับการกล่าวขานว่าเป็นปางที่สวยงามที่สุด เนื่องจากมีความอ้อนช้อยสมจริงด้วยอิริยาบถก้าวเดิน จีวรสะบัดปลิว และพระพักตร์ที่อ่อนหวานงดงาม ศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่ได้บันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์สุโขทัยได้อย่างละเอียดและน่าสนใจ และเป็นหลักฐานสำคัญต่อรากภาษาเขียนที่เรียกว่า “ลายสือไทย” ตัวอักษรไทยที่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยนั้น ตลอดจนเครื่องใช้และเครื่องประดับ ได้แก่ เครื่องประดับเงินลายโบราณ เครื่องประดับทองลายโบราณ และสังคโลก เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตใช้ภายในประเทศและส่งเป็นสินค้าออกไปยังต่างประเทศ มีสี ลวดลาย และรูปทรงสื่อถึงการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมไทยจีน และวัฒนธรรมไทยญี่ปุ่น หากจะมองถึงบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เหมาะสมกับการท่องเที่ยวประเภทที่เรียกว่า Slow Travel หรือท่องเที่ยวแบบละเลียด สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ก็มีความเหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่มหาอุทกภัยส่งผลให้การท่องเที่ยวโบราณสถานของพระนครศรีอยุธยาต้องสะดุดในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งนี้ จังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชรก็มีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวโบราณสถานและวิถีชีวิต ทดแทนการไปเที่ยวจังหวัดอยุธยาได้ เนื่องจากตัวโบราณสถานไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เส้นทางคมนาคมก็ได้รับการซ่อมบำรุงให้สามารถเดินทางได้ตามปกติแล้ว”
“ขณะนี้ การพัฒนาพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย — ศรีสัชนาลัย — กำแพงเพชร อยู่ระหว่างการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิดการอนุรักษ์และพัฒนาว่าด้วยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ที่เน้นการบริหารจัดการอย่างสมดุลระหว่างมรดกโลก เขตโบราณสถาน การดำเนินชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และการใช้สอยทรัยพากร ส่วนในแง่ของกิจกรรมการท่องเที่ยว จะต้องสร้างความน่าสนใจให้หลากหลายมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม อันเป็นรูปแบบของการจัดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ซึ่ง อพท. กำลังศึกษาและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในอุทยานประวัติศาสตร์และรอบพื้นที่ให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ อพท. มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายความเจริญ ยกระดับคุณภาพชีวิตของท้องถิ่น แต่หน่วยงานที่สำคัญอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อพท. ก็จะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็ง ให้มีความรู้ความเข้าใจ ให้มีส่วนร่วมในการดูแลและอยู่ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย”
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค กล่าวทิ้งท้ายว่า “พื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย — ศรีสัชนาลัย — กำแพงเพชร เป็นเมืองที่คนไทยต้องไม่ลืม ไม่ใช่เพราะเป็นเมืองมรดกโลก แต่เป็นมรดกของคนไทยทั้งประเทศ เฉกเช่นเดียวกับพระนครศรีอยุธยา ดังพระบรมราโชวาทขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทาน ไว้ว่า "โบราณสถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียว มีค่าควรที่เราจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทย ก็ไม่มีความหมาย" ฉะนั้น อพท. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ จะต้องร่วมกันบริหารเมืองโบราณสถานนี้โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าว่าการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการบริหารการพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย — ศรีสัชนาลัย — กำแพงเพชร จะสำเร็จประมาณกลางปี 2555 นี้ เพื่อสามารถเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป”
ติดต่อ:
กุณฑิกา ศรีแปดริ้ว 0894406218