กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
เมื่อโลกมุ่งไปสู่เทคโนโลยีดิจิตอลและมีการสร้างข้อมูลดิจิตอลใหม่ๆ ขึ้นมากมายมหาศาล การผสานอุตสาหกรรมการประมวลผลและการสื่อสารเข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ "สถาปัตยกรรม" ที่เป็นพื้นฐานของผลิตภัณฑ์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่จะช่วยให้วิธีการใช้ข้อมูลของผู้คนทั่วโลกดียิ่งขึ้น
มร. แพ็ต เกลซิงเกอร์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีของอินเทล กล่าวในงานอินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัม ว่า นอกเหนือจากความเร็วแล้ว ประสิทธิภาพของสถาปัตยกรรมที่เป็นนวัตกรรมยังเป็นตัวกำหนดสมรรถนะของการประมวลผลในอนาคต เพื่อให้ได้เทคโนโลยีดิจิตอลที่มีสมรรถนะเต็มประสิทธิภาพ
"สังคมของเราทุกวันนี้มีการสร้างข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้นเป็นจำนวนมหาศาลเนื่องจากโลกของเรายังคงก้าวไปสู่ยุคดิจิตอลอย่างต่อเนื่อง แต่กลับกลายเป็นว่าเราไม่สามารถดึงประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่มากมายมหาศาลนั้นมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสถาปัตยกรรมการประมวลผลซึ่งสามารถปรับสมรรถนะให้พร้อมรับข้อมูลที่มีอยู่มากมาย ตลอดจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถจำแนก ค้นหา และสังเคราะห์ข้อมูลดิจิตอลที่มีอยู่มากมายมหาศาลนั้นได้"
การที่จะทำให้คอมพิวเตอร์ในอนาคตเป็นประโยชน์กับเรามากขึ้น จำเป็นต้องมีสมรรถนะที่เป็นเลิศในสามด้านหลักๆ อย่างแรกคือ การจำแนกรูปแบบข้อมูล และโมเดลของประโยชน์จากการใช้งานสำหรับผู้ใช้หรือแอพพลิเคชั่นใดๆ โดยเฉพาะ ถัดมาคือความสามารถในการ "แสวงหา" ข้อมูลจากโลกของความเป็นจริงที่มีอยู่มากมายมหาศาลสำหรับรูปแบบเหล่านี้ และข้อสุดท้ายคือความสามารถในการวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ชุดข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ ประสิทธิภาพเหล่านี้จำเป็นต้องใช้หน่วยความจำ พลังงานในการประมวลผล แบนด์วิธ และระบบสำรองข้อมูลที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนรูปแบบสถาปัตยกรรมขั้นพื้นฐานของอุปกรณ์ต่างๆ ด้านการประมวลผลและการสื่อสารอีกด้วย
การเข้าถึงสถาปัตยกรรมใหม่สำหรับ "ยุคเทอรา" (Era of Tera)
มร.เกลซิงเกอร์ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า อินเทลช่วยนำพาอุตสาหกรรมให้สามารถก้าวเข้าสู่ยุคของการประมวลผลขนาด 'เทอรา' (tera) หรือขนาดล้านล้านหน่วยได้ โดยการพัฒนาสถาปัตยกรรม ที่จะทำให้อุปกรณ์การประมวลผลและการสื่อสารในอนาคต สามารถทำงานต่างๆ ที่ในวันนี้มีเพียงซูเปอร์คอมพิวเตอร์เท่านั้นที่สามารถจัดการได้ "ในขณะที่อินเทลได้พัฒนาโปรเซสเซอร์ที่มีทรานซิสเตอร์นับพันล้านตัวได้อย่างรวดเร็ว เรายังคงรุกต่อในด้านการพัฒนาวิธีการใหม่ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากทรานซิสเตอร์ที่เพิ่มขึ้น โดยการนำสถาปัตยกรรมใหม่มาประยุกต์ใช้เพื่อให้คอมพิวเตอร์มีประโยชน์กับผู้ใช้งานมากมายกว่าที่เป็นอยู่ โดยจะทำผ่านสถาปัตยกรรมที่สามารถปรับขนาดได้ตามความต้องการ และประยุกต์ให้เข้ากับ สภาพของการประมวลผลได้" มร.เกลซิงเกอร์ กล่าว
มร.เกลซิงเกอร์ ได้ขยายความถึงนวัตกรรมบางส่วนที่อินเทลกำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยให้สถาปัตยกรรมมีความสามารถในด้านการปรับขยายขนาดได้ตามความต้องการ รวมถึงเทคโนโลยี helper-threading ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแบบ single-thread โดยลดการทำงานคู่ขนานในโปรเซสเซอร์เดี่ยวเท่าที่จำเป็นได้อย่างชาญฉลาด นวัตกรรมอีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมสามารถปรับขนาดเพื่อรองรับปริมาณงานที่มีซับซ้อนได้มากขึ้นๆ ในเวลาเดียวกันได้ คือ การใส่แกนประมวลผลหลายแกนไว้ในโปรเซสเซอร์เพียงตัวเดียว
นอกจากนี้ อินเทลยังได้วิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้สถาปัตยกรรมใหม่เหล่านี้ปรับใช้กับแอพพลิเคชั่นและผู้ใช้ที่มีความหลากหลายมากขึ้นได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น มร.เกลซิงเกอร์ ได้บรรยายให้ฟังว่า นักวิจัยของอินเทลกำลังพัฒนาสถาปัตยกรรมคลื่นวิทยุโดยมีการคอนฟิกใหม่สำหรับชิปในอนาคตได้อย่างไร โดยที่ชิปเหล่านี้จะทำให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถสื่อสารกับเครือข่ายที่มีอยู่หลากหลายได้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายที่ใช้มาตรฐาน 802.11a, b, g, บลูทูธ หรือเทคโนโลยีไร้สายอื่นๆ
สำหรับนวัตกรรมสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่กล่าวมานั้น การผสานประสมรรถนะทั้งในแง่ของความเร็วสัญญาณนาฬิกาที่เพิ่มขึ้น และจำนวนทรานซิสเตอร์ที่มากขึ้นบนชิปแต่ละตัว จะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพการประมวลผลในอนาคตได้ในที่สุด
รายละเอียดเกี่ยวกับงานไอดีเอฟ
อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัม เป็นงานแสดงด้านเทคโนโลยีประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งจัดขึ้นสำหรับนักพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ งานไอดีเอฟ เป็นเวทีที่บริษัทชั้นนำในวงการมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับพีซี เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร และอุปกรณ์พกพาต่างๆ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานไอดีเอฟ และเทคโนโลยีต่างๆ ของอินเทลได้ที่ http://developer.intel.com
อินเทลเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้นำในการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ระบบเครือข่าย และอุปกรณ์สื่อสาร ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทอินเทล ได้ที่เว็บไซต์ http://www.intel.com/pressroom
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ:
คุณเพชราภรณ์ เจริญนิพนธ์วานิช คุณกรรภิรมย์ อึ้งภากรณ์
บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
โทรศัพท์: (66 2) 654-0654 โทรศัพท์: (66 2) 627-3501
e-Mail: petch.charoennibhonvanich@intel.com e-Mail: kanpirom.ungpakorn@carlbyoir.com.hk--จบ--
-รก-