กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--ปภ.
มท.2 พร้อมด้วยอธิบดีกรมป้องกันฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เดินทางตรวจสภาพความเรียบร้อยของโป๊ะ ท่าเทียบเรือในพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี พร้อมรับฟังบรรยายมาตรการป้องกันอุบัติภัยในวันลอยกระทง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย พร้อมด้วยนายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เดินทางไปตรวจสภาพความเรียบร้อยของท่าเทียบเรือในพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี ประกอบด้วย บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า , ใต้สะพานพระราม 8 , ท่าน้ำนนท์ (หน้าศาลากลางจังหวัดนนทบุรี และบริเวณใกล้เคียง และรับฟังบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อมและป้องกันอุบัติภัยในวันลอยกระทง จากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี, กรุงเทพมหานคร, กองบัญชาการตำรวจนครบาล, จังหวัดนนทบุรี พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจตราความมั่นคงแข็งแรงของโป๊ะ และท่าเรืออย่างละเอียด หากจุดใด ไม่ปลอดภัย ห้ามใช้โดยเด็ดขาด พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลความปลอดภัยประจำตามโป๊ะและท่าเรือต่างๆ ที่เปิดเป็นสถานที่ลอยกระทง เพื่อมิให้ประชาชนลงไปเกินจำนวนที่กำหนด ป้องกันการรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้โป๊ะพลิกคว่ำ ก่อให้เกิดอันตรายได้ ตลอดจนขอเตือนผู้ที่ไปเที่ยวงาน ให้ระวังภัยต่างๆ ที่มักเกิดขึ้น เช่น ภัยจากเหล่ามิจฉาชีพ โดยขอความร่วมมือจากประชาชน อย่าสวมใส่เครื่องประดับราคาแพง อย่าแต่งกายล่อแหลม อย่าหลงเชื่อคนแปลกหน้า อย่าเดินทางลำพังในที่เปลี่ยว ส่วนท่านที่มีบุตรหลานไปด้วย ขอให้ดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ได้สั่งการให้จังหวัดนำมาตรการ 3 ม 2 ข 1 ร มาใช้ในการสร้างความปลอดภัยในการเดินทางช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน โดยขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวัง ศึกษาเส้นทางก่อนเดินทาง ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว หากดื่มสุรา ควรใช้บริการรถสาธารณะ รวมถึงให้ระวังอันตรายจากพลุ ดอกไม้เพลิง เนื่องจาก พบว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการผลิต การขนย้าย และการเล่นพลุ ดอกไม้เพลิงจำนวนมาก จึงขอเตือนให้งดเล่น หรือเล่นเฉพาะในบริเวณที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากสร้างความเดือดร้อน และก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น จะมีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา เช่นเดียวกับผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบผลิต ดอกไม้เพลิงโดยไม่ได้รับอนุญาต
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันฯ กล่าวว่า กรมป้องกันฯ ได้กำหนดมาตรการป้องกันอุบัติภัยจาก ดอกไม้เพลิง พร้อมกำชับให้จังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบ ควบคุม เข้มงวดการออกใบอนุญาต ผลิต สั่งนำเข้าหรือค้าดอกไม้เพลิง และจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยของสถานประกอบการผลิต จำหน่าย หากไม่ปลอดภัย เจ้าของกิจการต้องแก้ไข ปรับปรุง หรือย้ายสถานที่ ถ้าฝ่าฝืน จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ถึงอันตรายของดอกไม้เพลิง และเข้ามามีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส การลักลอบผลิตและจำหน่าย โดยเฉพาะการดัดแปลงบ้านเป็นโรงงานผลิต รวมถึงให้มีการควบคุมการจำหน่าย และการเล่นดอกไม้เพลิงในช่วงเทศกาล ลอยกระทงอย่างเข้มงวด สุดท้ายนี้ ขอกำชับให้ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่จัดงานลอยกระทง เตรียมการป้องกันภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในวันลอยกระทง และในส่วนของผู้ไปเที่ยวงานลอยกระทงให้เพิ่มความระมัดระวัง ไม่ประมาท เดินทางให้ระวังอุบัติเหตุทางถนน ภัยทางน้ำ ทั้งจากโป๊ะล่ม จมน้ำ ภัยจากเหล่ามิจฉาชีพ และงดเว้นการเล่นพลุ ดอกไม้ไฟ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน--จบ--