กรุงเทพฯ--30 ธ.ค.--สสวท.
เนื่องจากการศึกษาแหล่งเรียนรู้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่สำคัญเพื่อช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ให้ผู้เรียน แต่แหล่งเรียนรู้บางสถานที่นักเรียนอาจจะเดินทางลำบาก และอยู่ห่างไกล ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงและบางแห่งไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปเรียนรู้
การจัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่จริงนั้นบางครั้งอาจเจออุปสรรคเกี่ยวกับสภาพดินฟ้า อากาศและฤดูกาลต่างๆ ที่ต้องใช้เวลา ที่พอเหมาะจึงจะสามารถท่องเที่ยวในสถานที่นั้นๆ ได้ การจัดกิจกรรมและศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ออนไลน์จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ ได้ เป็นการใช้ ICT ในการเรียนการสอนของครูผู้สอน ครูและนักเรียนสามารถใช้ระบบศึกษาแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลา
ด้วยเหตุนี้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงได้จัดทำ ”แหล่งเรียนรู้ทัศนศึกษาออนไลน์” ขึ้นผ่าน เว็บไซต์ http://fieldtrip.ipst.ac.th โดย สสวท. ได้คัดสรรแหล่งเรียนรู้ ต่าง ๆ มาให้ศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำหลักสูตรการเรียนรู้นอกห้องเรียนมาใช้บูรณาการกับนักเรียน พัฒนาเครือข่ายของแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญและสอดคล้องกับสาระการเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัล ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นและแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ทั่วประเทศ นักเรียนได้พัฒนาและเพิ่มทักษะในการใช้ ICT ในการค้นหาข้อมูลสารสนเทศ และใช้ ICT ในการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครู และโรงเรียนทั่วประเทศ ด้วยระบบออนไลน์
“จุดเด่นของแหล่งเรียนรู้ทัศนศึกษาออนไลน์ไปกับ สสวท. คืด การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตรและสอดคล้องกับระดับของผู้เรียน ทำให้มีทักษะ กระบวนการคิด มีความทันสมัย ความถูกต้องและเหมาะสม ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้แกนกลางตามที่ กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้ ซึ่งแต่ละแหล่งเรียนรู้มีข้อมูลโดยละเอียด ที่ครูและนักเรียนสามารถนำไปใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนในสาระการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องได้ ประกอบไปด้วย ตัวชี้วัดและจุดประสงค์การเรียนรู้ ข้อมูลทั่วไป เนื้อหาสาระ ใบความรู้เพิ่มเติม รูปภาพ คลิปอธิบายความรู้ และวีดิทัศน์กิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับแหล่งเรียนรู้นั้น ๆ” ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว
ข้อมูลแหล่งเรียนรู้ทัศนศึกษาออนไลน์ไปกับ สสวท. ประกอบด้วย สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี เหมืองถ่านหินแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เหมืองดีบุก จังหวัดเชียงใหม่ วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล จังหวัดแม่ฮ่องสอน และล่าสุด สสวท. ได้จัดทำแหล่งเรียนรู้ทัศนศึกษาออนไลน์เพิ่มอีก 4 แหล่งที่น่าสนใจทั้ง เนื้อหา สาระ ความสนุก และความน่าตื่นเต้น ได้แก่ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี นาเกลือ จังหวัดสมุทรสงคราม กรมอุตุนิยมวิทยา กรุงเทพมหานคร และจะมีเพิ่มเติมอีกต่อไปเรื่อย ๆ
เว็บไซต์ ”แหล่งเรียนรู้ทัศนศึกษาออนไลน์” ไปกับ สสวท. ได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตามมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้แกนกลางโดยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ศึกษา ด้านธรณีวิทยา ด้านคณิตศาสตร์ หรือด้าน ICT เพื่อการศึกษา
ยกตัวอย่างการเข้าไปทัศนศึกษาออนไลน์ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง เริ่มแรกจะได้พบกับคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับภูหลวง ตัวชี้วัดและจุดประสงค์การเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น สาระ มาตรฐานและตัวชี้วัดชั้นปี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ชั้น ม. 1 จุดประสงค์การเรียนรู้ไ ด้แก่ รู้วิธีอ่านค่าจากเครื่องมือและความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิ ความชื้น และความกดอากาศที่มีผลต่อปรากฏารณ์ทางลมฟ้าอากาศ ตระหนักถึงผลกระทบของการทำลายป่าที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รู้จักลักษณะของป่าเบญจพรรณและป่าดิบเขา พืชพรรณในป่าและการขยายพันธุ์ของพืชบางชนิกทั้งอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ เข้าใจระบบลำเลียงน้ำและอาหารของพืช สามารถวัดค่า pH ของดินได้ รู้วิธีประยุกต์ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์หาความสูงของต้นไม้ได้
จากนั้นจะเข้าไปสู่ข้อมูลทั่วไป ประกอบด้วยที่ตั้งและภูมิประเทศ การเดินทาง ซึ่งมีเนื้อหาพร้อมคลิปเรื่องเส้นทางสู่ภูหลวงให้ชม ความเป็นมา ซึ่งมีข้อมูลพร้อมทั้งคลิปเรื่องลักษณะของภูหลวง รวมกับคลิปเรื่องไดโนเสาร์ คลิปเรื่องหล่อแบบรอยตีนไดโนเสาร์ และคลิปเรื่องน้ำมือมนุษย์
ต่อไปเข้าสู่เนื้อหาสาระ ประกอบด้วย เนื้อหาความรู้เกี่ยวกับ การวัดอุณหภูมิของอากาศด้วยบารอมิเตอร์ ลักษณะอากาศและป่าชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีเนื้อหาความรู้และคลิปเรื่องป่าเบญจพรรณ คลิปเรื่องป่าดิบเขา การทำกิจกรรมพร้อมคลิปกิจกรรมกรดหรือเบส และคำถาม พืชพันธุ์และการขยายพันธุ์พืช มีคลิปเรื่องพรรณไม้และการขยายพันธุ์ คลิปเรื่องกล้วยไม้บนภูหลวง และคลิปเรื่องมอสและเฟิร์น พร้อมทั้งคำถาม เห็ดราและไลเคน ซึ่งประกอบด้วย เนื้อหาความรู้ คลิปเรื่องไลเคน คลิปเรื่องฟองหินและคำถาม ความรู้เกี่ยวกับการลำเลียงน้ำและอาหาร กิจกรรมการวัดความสูงของต้นไม้ ซึ่งมีคลิปเรื่องการวัดความสูงของต้นไม้และคำถาม
หลังจากเนื้อหาสาระ จะเข้าสู่หน้าวีดิทัศน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ภูหลวง 15 รายการ ปิดท้ายด้วย กิจรรม ได้แก่ การทำกิจกรรมกรดหรือเบส และกิจกรรมความสูงของต้นไม้ ซึ่งมีทั้งรายการอุปกรณ์ที่ใช้ วิธีทำกิจกรรม คำถามท้ายกิจกรรม และคลิปตัวอย่างการทำกิจกรรม
จากการติดตามผลการใช้งานของโรงเรียนนำ 4 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จ. เพชรบุรี โรงเรียนห้วยยอด จ. ตรัง โรงเรียนศรียานุสรณ์ จ. จันทบุรี และโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ. อุบลราชธานี พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจมากในการใช้งานระบบทัศนศึกษาออนไลน์ และอยากให้มีแหล่งทัศนศึกษาเพิ่มมากขึ้น อาจารย์ปรียานุช นิยมชาติ ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เว็บไซต์ทัศนศึกษาออนไลน์ มีประโยชน์มาก ช่วยให้นักเรียนได้ไปท่องเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่ต้องเสียเงินและเสียเวลา สามารถเรียนรู้ได้ตลอดไม่ว่าอยู่ที่ไหน เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนานแถมได้รับความรู้เต็มเปี่ยม นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับเนื้อหาสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดถ่านหิน หินงอกหินย้อย การเกิดสามพันโบก ช่วยประหยัดเวลาครูผู้สอน เป็นสื่อที่ดีที่ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนรักการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่ผ่านมามีการขยายผลโดยการแนะนำเว็บไซต์ให้กับเพื่อนครูที่สนใจ ได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ก่อน ซึ่งถ้ามีเนื้อหาที่เหมาะสมกับรายละเอียด ของสาระวิชา/ชั้นที่สอน ก็แนะนำให้มีการขยายผลให้กับนักเรียนต่อไป
เด็กหญิงบงกชพร จะเชิญรัมย์ (ด้าย) ม.3/2 โรงเรียนศรียานุสรณ์ เล่าถึงประสบการณ์ทดลองใช้เว็บไซต์ทัศนศึกษาออนไลน์ว่ามีความน่าสนใจอย่างไร มีการถ่ายทำในสถานที่จริง สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ โดยไม่ต้องไปเอง ได้เรียนรู้แบบประหยัด มีสีสัน มีเกม มีเพลง และมีวดีโอให้ชม มีประโยชน์ในการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการเรียนวิทยาศาสตร์ได้ เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปเองเด็กหญิงอาทิตยา ศรีย้อย (มิ้นท์) ม.3/2 โรงเรียนศรียานุสรณ์ เล่าว่า ตนเองนั้น
ได้ค้นหาความรู้เพื่อนำไปใช้ตอบปัญหาในวิชาวิทยาศาสตร์ และเรื่องรอบ ๆ ตัวที่ไม่สามารถค้นหาได้จากในหนังสือ เข้าไปเล่นเกมส์ ฟังเพลง ดูวีดีโอ และตอบคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ ได้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อน ๆ ที่เข้าไปเรียนรู้ได้ด้วย เป็นการเรียนที่สนุกมาก ๆอยากให้เพิ่มสถานที่เรียนรู้ให้ครบทุกจังหวัด หรือทำให้มากที่สุดเท่าที่สามารถทำได้
ทั้งนี้ สสวท. จะเพิ่มเติมข้อมูลและบทเรียนเกี่ยวกับแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้สนใจติดตามได้ในเฟซบุ๊คทัศนศึกษาออนไลน์ไปกับ สสวท. ได้อีกทางหนึ่งหรือสอบถามที่ โทร. 02-3924021 ต่อ 1245 อีเมล์ fieldtrip@ipst.ac.th
นอกจากนั้น สสวท. ยังได้จัดทำ “เกมแอนิเมชั่นทัศนศึกษาออนไลน์” สำหรับน้อง ๆ เยาวชน และผู้สนใจที่ชอบเกมแอนิเมชั่นสนุก ๆ พาไปทัศนศึกษาศึกษาแหล่งเรียนรู้ธรณีวิทยาภาคตะวันออกแบบเสมือนจริงที่ http://fieldtrip.ipst.ac.th/game/game.php อีกด้วย เปิดให้เล่มเกมเพื่อการเรียนรู้ได้ฟรี 24 ชั่วโมงในโลกออนไลน์ โดยจะได้รับความรู้พร้อมกับความเพลิดเพลินในแบบต่างๆ เช่น เลือกตัวการ์ตูนและแต่งตัวให้เหมาะสมกับการศึกษาภาคสนาม ข้อมูลทางธรณีวิทยา ศึกษาผ่านคลิป และสื่อดิจิทัล สอดแทรกด้วยเกมและแบบทดสอบความรู้ในทุกจุดศึกษา ทำให้เรียนรู้ธรณีวิทยาได้ง่ายและสะดวก