กรุงเทพฯ--6 ม.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์
“น้ำท่วม” หลายคนมองว่าเป็นวิกฤติ แต่ไหนเลยจะเอาชนะความปรารถนาดีของ ครูเพื่อศิษย์ ไปได้ หลังน้ำลดครูหลายคนจึงแปลงวิกฤติเป็นโอกาส ใช้น้ำท่วมเป็นสื่อเรียนรู้แก่ลูกศิษย์ ...
ครูอุทัยวรรณ ภัททกวงศ์ คุณครูวิชาภาษาไทย และคุณครูประจำชั้น ป.6 โรงเรียนวัดสวนส้ม จ.สมุทรปราการ เล่าว่า ปีนี้ที่โรงเรียนไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเหมือนพื้นที่อื่นๆ เพราะได้ ร่มพระบารมี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ทำให้ชาวสมุทรปราการรอดพ้นจากภัยน้ำท่วมใหญ่มาได้
ครูอุทัยวรรณยังอาศัยเหตุการณ์น้ำท่วม สอดแทรกบทเรียน “จิตอาสา” และ “ความเป็นพลเมือง” ให้แก่ลูกศิษย์ตัวน้อยได้สืบค้น เรียนรู้ ถึงต้นสายปลายเหตุของน้ำท่วมว่ามีมาอย่างไร ตลอดทั้งชวนกันคิดถึงการเตรียมพร้อมรับมือ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย
“จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เด็กส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจะไม่สนใจติดตามข่าวสารเลย พอดีมีน้องคนหนึ่ง บ้านที่อยู่บางแคถูกน้ำท่วมจึงมาอาศัยเรียนด้วยชั่วคราว ครูจึงขอให้เขาช่วยเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่าเขาได้รับความเดือดร้อนอย่างไร ถ้าเป็นเราๆ จะทำอย่างไร ช่วยเหลือเขาได้อย่างไร”
ครูอุทัยวรรณ เล่าต่อไปว่า จากบทเรียนครั้งนั้น ทำให้นักเรียนในห้องมีความรู้ความเข้าใจเหตุการณ์น้ำท่วมมากขึ้น ทั้งได้เรื่องของความเห็นอกเห็นใจ ปรับพฤติกรรมใช้ข้าวของแต่พอดีเพื่อไม่เป็นการทำลายธรรมชาติ เมื่อโรงเรียนเปิดรับสิ่งของบริจาค ก็ให้ความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
ด้าน อาจารย์วาริน รอดบำเรอ คุณครูวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนศรีวิชัยวิทยา จ.นครปฐม เล่าบ้างว่า โรงเรียนเป็นอีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เมื่อเปิดเรียนภาคเรียนต้องสอน เรื่องความน่าจะเป็น จึงเป็นโอกาสเหมาะเชื่อมโยงวิชาคณิตศาสตร์กับชีวิตจริง นำถุงยังชีพมา 1 ถุงเพื่อสมมติให้ห้องเรียนเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้รับสิ่งของบริจาคจากผู้มีจิตอาสา ตั้งโจทย์ให้นักเรียนช่วยกันคิดว่า ถ้าเรามีความน่าจะเป็นในการแจกจ่ายข้าวของให้แก่ผู้ประสบภัยอย่างไร
นอกจากนี้ ครูวารินยังได้สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงในใจลูกศิษย์ ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราจะต้องมีเหตุผลเสมอ การแจกของบริจาคก็เช่นกัน เด็กๆ ต้องอธิบายให้ได้ว่าใส่สิ่งของนั้นๆ ไปเพื่ออะไร หรือแม้แต่เรื่องของ คุณธรรม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในสังคม ครูวารินตั้งเงื่อนไขให้คิดเพิ่มเติม เช่น การไม่แจกลูกอมซึ่งจะทำให้เด็กๆ ฟันผุลงในถุงยังชีพ ความน่าจะเป็นในการแจกถุงยังชีพจะแตกต่างจากเดิมอย่างไร
นอกจากจะเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวาและสนุกสนานแล้ว ครูวารินยังทิ้งท้ายด้วยว่า วิธีการจัดการเรียนการสอนดังกล่าวยังทำให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริง กระทั่งเกิดเป็นความอยากเรียนรู้ ซึ่งจะผลักดันให้ลูกศิษย์ของเราพลอยมีระดับการเรียนรู้ที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ เรื่องเล่าเร้าพลังข้างต้นเกิดขึ้นในเวที โครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เพื่อปฏิรูปการศึกษา จัดโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และมูลนิธิสยามกัมมาจล เพื่อเป็นพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสานเครือข่ายกันของคุณครูที่มีจิตวิญญาณเพื่อศิษย์ในประเทศ