กบข. จับมือธนาคารกรุงไทย เปิดตัวโครงการสินเชื่อการศึกษาดอกเบี้ยต่ำ

ข่าวทั่วไป Monday March 1, 2004 09:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--บมจ.ธนาคารกรุงไทย
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ยังคงเดินหน้าสร้างสรรค์สวัสดิการให้แก่สมาชิก กบข. อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจับมือกับแบงค์กรุงไทย ขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับสมาชิกและบุตรเปิดโครงการสินเชื่อเพื่อการศึกษาดอกเบี้ยต่ำ คาดเริ่มได้ทันในภาคการศึกษานี้แน่นอน
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. และนายสหัส ตรีทิพยบุตร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และโครงการพิเศษ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลง โครงการสินเชื่อการศึกษากรุงไทยเพื่อสมาชิก กบข. ซึ่งนายวิสิฐ ได้เปิดเผยถึงโครงการดังกล่าวว่า การที่ กบข. จัดสวัสดิการดังกล่าวขึ้นมาก็เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิก กบข. และบุตรที่ประสงค์จะเรียนต่อแต่ขาดทุนทรัพย์ ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเพื่อเป็นการยกระดับความรู้ความสามารถ ตลอดจนเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงทั้งในหน้าที่การงานและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น กบข. จึงได้พิจารณาแนวทางการจัดสวัสดิการสินเชื่อดังกล่าวโดยคัดเลือก บมจ. ธนาคารกรุงไทย มาเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อซึ่งจะเป็น ประโยชน์ทั้งแก่สมาชิกในด้าน การบริการ และไม่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายของกองทุน โดยหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนั้น กบข. ได้พิจารณาจากข้อเสนอ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขของ สินเชื่อ และความสามารถในการให้บริการแก่สมาชิก ซึ่ง ทางธนาคารกรุงไทย มีข้อเสนอที่ดีและให้สิทธิประโยชน์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าโครงการอื่นของธนาคาร การให้สินเชื่อครอบคลุมทุกระดับการศึกษา การให้สินเชื่อเพื่อการศึกษาใน และต่างประเทศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถกู้เพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ในอัตราที่ต่ำกว่าลูกค้าปกติ นอกจากนั้นยังมีความพร้อมในด้านสาขาที่มีอยู่กว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ประกอบกับประสบการณ์ในการ ดำเนินงานร่วมกับหน่วยราชการเป็นอย่างดี ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มให้สมาชิกยื่นขอกู้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2547 เป็นต้นไป
ด้านนายสหัส ตรีทิพยบุตร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และ โครงการพิเศษ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวนโยบายของธนาคารกรุงไทยในเรื่องการสร้างทุนทางปัญญา โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพของบุคลากร ซึ่งมีผลดีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ธนาคารจึงได้ร่วมมือกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดโครงการ สินเชื่อการศึกษากรุงไทยเพื่อสมาชิก กบข. ขึ้น เพื่อเป็น สวัสดิการสำหรับการศึกษาและซื้อคอมพิวเตอร์ให้กับสมาชิก กบข.
ทั้งนี้ ธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการศึกษาแก่สมาชิก กบข. และบุตร โดยครอบคลุมทุกระดับการศึกษาเพื่อการศึกษาในประเทศ และระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในการศึกษาต่างประเทศสำหรับบุตรของสมาชิก ในวงเงิน 120,000 — 500,000 บาท ตามระดับการศึกษา แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่จ่ายจริง และเมื่อรวมกับยอดหนี้คงค้างเดิมตามโครงการนี้แล้วต้องไม่ต่ำกว่า รายละ 20,000 บาท สูงสุดไม่เกินรายละ 500,000 บาท โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราทั่วไปที่ 4.5 คงที่ ใน 2 ปีแรก หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับหลักประกัน ระยะเวลา ผ่อนชำระสูงสุด 8 ปี ทุกวงเงิน นอกจากนี้ สำหรับสินเชื่อเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ หรือ Notebook พร้อมอุปกรณ์ธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อให้ตามวงเงินที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกินรายละ 50,000 บาท ระยะเวลา ผ่อนชำระ 2 ปี อัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับหลักประกัน
ดังนั้น หากสมาชิก กบข. ต้องการเข้าร่วมโครงการสวัสดิการสินเชื่อเพื่อการศึกษา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บมจ.ธนาคารกรุงไทยทุกสาขากว่า 600 แห่งทั่วประเทศ หรือโทร. 1551 กรุงไทยโฟนเซอร์วิส และที่ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก กบข. โทร. 1179 กด 6
เรื่องน่ารู้จาก กบข.
กบข. จัดสรรผลประโยชน์ให้สมาชิก อย่างไร
การจัดสรรผลประโยชน์ให้กับสมาชิกนั้น กบข. ดำเนินการตามประกาศคณะกรรกมการ เรื่องการจัดสรรผลประโยชน์เข้าบัญชีเงินกองทุนและหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ของกองทุนส่วนสมาชิก เป็นจำนวนหน่วยและมูลค่าต่อหน่วย (Unitization) ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2545
โดยการจัดสรรผลประโยชน์ของ กบข. คือ ต้องจัดสรรผลประโยชน์ให้สมาชิกเป็นรายวันทุกวัน โดยจะจัดสรรผลประโยชน์ที่ได้รับสำหรับวัน T (วัน T หมายถึง วันทำการที่คำนวณผลประโยชน์) ให้แก่สมาชิก 3 วัน หลังจากนั้น (วัน T+3) และจะประกาศมูลค่าต่อหน่วยหลังจากวันที่ได้รับผลประโยชน์ 4 วัน (T+4)
ดังนั้น ด้วยวิธีการนี้ทำให้สมาชิกคำนวณอัตราผลประโยชน์ในใบแจ้งยอดแล้วไม่เท่ากับอัตราผลประโยชน์ทั้งปี เพราะช่วงสิ้นปีจะมีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้คำนวณผลประโยชน์ให้ และจะตั้งบัญชีไว้เป็นผลประโยชน์รอการจัดสรรนำไปคำนวณในปีถัดไป
เก็บมาฝากสมาชิก กบข.
ปฏิกิริยากับแรงจูงใจ
คนเรามักจะตอบสนองกับสิ่งเร้าเสมอ การทำงานก็มีการเสนอข้อเสนอที่เป็นแรงจูงใจ เป็นสิ่งเร้าไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งที่สูงขึ้น เงินเดือนที่ดีขึ้น หรือถ้าเรียนหนังสือถ้าขยันก็จะได้เกรดเอ ซึ่งก็จะเป็นความภูมิใจ หากผู้หญิงสวยก็จะเป็นแรงจูงใจให้มีหนุ่มมาสนใจมาก ด้วยเหตุนี้ วันนี้เราถึงมาพูดถึง "ปฏิกิริยากับแรงจูงใจ" ว่ามีความสำคัญไม่ใช่เล่น
คนที่อยากได้เงินของคนอื่นก็ต้องมีข้อเสนอสารพัดรูปแบบ มาเสนอให้คนอื่นสนใจ เช่นอยากขายของให้ได้ ก็ต้องเสนอขายสินค้าให้ตรงกับความต้องการของคนซื้อ เมื่อแรงจูงใจผ่านการโฆษณาในรูปแบบต่าง ๆ มาถึงเรา ถ้าตรงกับเรา ก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อแรงจูงใจนั้นโดยการไปซื้อหาสินค้านั้นมาครอบครอง หรือหากเปรียบเทียบในการทำงาน ถ้าอยากให้คนทำงานให้แก่หน่วยงานดี ๆ และมีประสิทธิภาพสูง ๆ ก็ต้องมีการคิดแรงจูงใจ ( Motivation) ในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้คนทำงานได้เต็มประสิทธิภาพทั้งในแบบที่เป็นทางตรง และ ทางอ้อม ในทางกลับกัน ถ้าเราอยากก้าวหน้าในการทำงานก็ต้องพยายามทำงานได้มากกว่าที่องค์การคาดหวังไว้เราก็จะได้รับผลของการทำงานอย่างทุ่มเทอย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้เป็นหลักง่าย ๆ ของ "แรงจูงใจ" เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนอง
ในแง่การลงทุน ทุกวันนี้มีหลากหลายรูปแบบของการลงทุนให้แต่ละคนได้เลือกลงทุน ลองศึกษาดู หรือเพียงแต่เปิดหนังสือพิมพ์ดูในแต่ละวัน ก็จะเห็นเรื่องการลงทุนมากมาย มีข้อมูลและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่ผ่านการพิจารณาและคาดหวังว่า ผู้ลงทุนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยนำเงินมาลงทุนในเครื่องมือการลงทุนประเภทนั้น ๆ ที่ต่างก็ออกข้อเสนอหรือแรงจูงใจที่ว่าของตนดีแตกต่างกันไปทั้งนั้น
ดังนั้นขึ้นชื่อว่า"มนุษย์" แล้วย่อมจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อแรงจูงใจเสมอ ถ้าเรารู้เท่าทัน คิดได้ว่าทุกอย่างล้วนเป็นแรงจูงใจทั้งนั้น เราก็ต้องประมาณตัวเองได้ว่า เราจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือแรงจูงใจอย่างไร ที่สำคัญต้องมีสามัญสำนึกว่าสิ่งที่เราจะทำนั้น ไม่ผิดต่อตัวเอง ไม่ผิดต่อผู้อื่น ไม่ผิดต่อศีลธรรม และ กฎหมาย เพราะถ้ามีสิ่งเร้าแล้วเราตอบสนองอย่างไร้สติ ก็จะก่อให้เกิดปัญหาได้ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ เช่น เงินขาดมือ หรือเป็นหนี้ท่วมหัว ก่อความเดือดร้อนให้ครอบครัว เลยไปถึงเรื่องใหญ่ ๆ คือทำให้ประเทศชาติเดือดร้อนเพราะอาจทำการทุจริตในหน้าที่การงานเพื่อ "เงิน" ตัวเดียว
ปฏิกิริยาต่อแรงจูงใจมี 2 ด้านเหมือนเหรียญ คือ ตอบสนองแรงจูงใจในด้านบวกที่จะทำให้เรามีแรงทำงานให้ถึงเป้าหมาย หรือได้ผลดีจากการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง แต่ถ้าเป็นการตอบสนองแรงจูงใจด้านลบ ก็จะทำให้เราขาดความยั้งคิด ไร้สติ
ขอเพียงรู้ให้เท่าทันเท่านั้น ไม่มีอะไรยากอยู่แล้ว
ที่มา:หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547
คอลัมน์ Financial Planing โดย คุณอมฤดา สุวรรณจินดา.
หมายเหตุ
ในกรณีที่กบข. ส่งข่าว 3 ครั้งแล้วไม่สำเร็จก็จะทำการลบ Address โดยอัตโนมัติ
หากคุณต้องการรับข่าวสาร สามารถสมัครใหม่ได้ค่ะ
หากท่านมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ :-
ศูนย์บริการข้อมูลสมาชิกโทร. 1179 กด 6 เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง
หรือ email: member@gpf.or.th
หรือฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์กบข. ตู้ปณ. 19 ปณฝ. กระทรวงการคลัง กรุงเทพฯ 10411--จบ--
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ