ปตท. เผย ปี 2546 ปตท.และบริษัทย่อย มีกำไรรวม 3.9 หมื่นล้านบาท

ข่าวทั่วไป Monday March 1, 2004 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--ปตท.
จากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยปี 2546 ที่ขยายตัวในอัตรา 6-7% ทำให้การใช้ปิโตรเลียมของประเทศสูงขึ้นประมาณ 6% ประกอบกับราคาปิโตรเลียมและปิโตรเคมีในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเฉลี่ย 17 %และ 35 % ตามลำดับ ส่งผลให้ปตท. และ บริษัทย่อย มีรายได้จากการประกอบการเพิ่มขึ้น 24 % ส่วน ปี 2547 คาดว่าความต้องการปิโตรเลียมยังขยายตัวต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น ปตท.มี แผนลงทุนใน 5 ปี ข้างหน้าเกือบ 150,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว โดยเป็นการลงทุนในปี 2547 จำนวน 36,000 ล้านบาท
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แถลงผลประกอบการ ปตท.ปี 2546 ว่า จากสถานการณ์การใช้ปิโตรเลียม (น้ำมัน / ก๊าซธรรมชาติ) และ ปิโตรเคมี ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ผนวกกับราคาที่สูงขึ้นตามภาวะตลาดโลก เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปตท.และบริษัทย่อยมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยมีรายได้จากการขาย 494,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 94,257 ล้านบาท หรือประมาณ 24 % และมี EBITDA (รายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา) 62, 368 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,195 ล้านบาท หรือประมาณ 15% โดยมีกำไรสุทธิ 39,401 ล้านบาท คิดเป็น 14.09 บาท ต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14,916 ล้านบาท หรือประมาณ 61% โดยปีนี้ ปตท. ประกาศที่จะจ่ายเงินปันผล 4 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ผลประกอบการที่ดีขึ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนของบริษัทในเครือ กลุ่มธุรกิจการกลั่น และปิโตรเคมี รวม 12,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,134 ล้านบาท หรือประมาณ 469% สำหรับ ฐานะการเงิน ณ สิ้นปี 2546 ปตท. และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์ รวมมูลค่า 324,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 9 % หนี้สินรวม 195,676 ล้านบาท ลดลงประมาณ 3 % ส่วนของผู้ถือหุ้น รวมทั้งสิ้น 128,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 33 %
จากผลประกอบการ และฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ได้สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ส่งผลให้ราคาหุ้น ปตท. สามารถปรับตัวสูงขึ้น โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2546 ราคาสูงถึง 185 บาทต่อหุ้น เพิ่มจากต้นปีที่มีราคาเพียง 42.50 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มขึ้น 335.29 % และมีมูลค่าตลาด ( Market Cap) 517,445 ล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธุรกิจหลักของปตท.ปี2546 ในกลุ่มธุรกิจน้ำมันสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศได้ 14,698 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 11% โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 31.6% สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปี ที่11 ส่วนการค้าสากลมียอดจำหน่าย 23,559 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 17% ในขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปี 2546 สูงกว่าปีก่อนเฉลี่ย ประมาณ 3-4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นประมาณ 12- 16 %
สำหรับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ สามารถจำหน่ายก๊าซฯได้ ประมาณ 2,635 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น 7 % โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ในส่วนโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มีผลประกอบการที่ดีขึ้นมาก เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซฯ ( LPG อีเทน และ โปรเพน) ปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลกเฉลี่ย 20%
กลุ่มธุรกิจการกลั่นปี 2546 มีสภาพฟื้นตัว โดยมีค่าการกลั่นเฉลี่ยอยู่ในระดับ 3 - 4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ในระดับ 1-2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับโรงกลั่นในเครือปตท.ส่วนใหญ่ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกลั่น และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทำให้มีผลประกอบการดีขึ้น ส่วนกลุ่มบริษัทปิโตรเคมีในเครือ ปตท. ส่วนใหญ่มีผลประกอบการดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากราคาโอเลฟินส์ และ อะโรเมติกส์ในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นประมาณ 27%-43% ประกอบกับ บริษัท อะโรเมติกส์ ฯ(ATC) และ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ฯ(TOC)มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะ ATC มีการขยายกำลังการผลิตระยะแรกทำให้ได้ผลิตภัณฑ์หลัก (พาราไซลีน / เบนซีน) เพิ่มขึ้นเป็น 1.0 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 25% และมีการปรับโครงสร้างเงินกู้ ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็นดอกเบี้ยลดลง
นอกจากนี้ นายประเสริฐ กล่าวถึงสถานการณ์ปี 2547 ว่า เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะยังคงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในอัตรา 7-8% ซึ่งมีปัจจัยจากการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้การใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 9-10 % ส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น 5-6 % ตามการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 8-9% โดยในปี 2547 นี้ ปตท.มีแผนการลงทุน 36,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี ที่จะเพิ่มขึ้น และในอีก 5 ปีข้างหน้ามีแผนลงทุนรวม 146,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่กว่า 80% จะเป็นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจก๊าซฯเพื่อขยายโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ และสร้างมูลค่าเพิ่มของก๊าซฯ อาทิ โครงการขยายกำลังส่งก๊าซฯของท่อในทะเลปัจจุบันโครงการท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 3 โครงการปรับปรุงโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 1 , 2 และ 3 โครงการโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 5 และโครงการสถานีบริการ NGV เป็นต้น โดยส่วนที่เหลือ เป็นการลงทุนในธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมี เพื่อปรับปรุงสถานีบริการ และคลังน้ำมัน โครงการพัฒนาธุรกิจเสริมในสถานีบริการ รวมทั้งโครงการCumene /Phenol และโครงการผลิตโพรพิลีน /โพลีโพรพิลีน ซึ่งเป็นปิโตรเคมีขั้นกลาง และขั้นปลายที่ใช้โพรเพนจากโรงแยกก๊าซฯเป็นวัตถุดิบ
สำหรับแผนการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในเครือ ปตท. เมื่อต้นปี 2547 ที่ผ่านมา บริษัทปตท..สผ. ได้ซื้อกิจการของบริษัทไทยเชลล์ฯ บริษัท บางจากฯ ได้ทำการปรับโครงสร้างหนี้ และขายหุ้น DR ในตลาดหลักทรัพย์ทำให้ฐานะการเงินและสภาพคล่องดีขึ้น นอกจากนี้โรงกลั่นไทยออยล์ ยังมีแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ภายในไตรมาส 3 ของปี 2547 นี้ด้วย ส่วนกลุ่มบริษัทปิโตรเคมีในเครือปตท. ส่วนใหญ่ได้แก่ บริษัท ปิโตรเคมี ฯหรือNPC TOC และ ATC มีแผนขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดปิโตรเคมี ที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจของประเทศไทย และ ของโลก--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ