กรุงเทพฯ--9 ม.ค.--พม.
วันที่ ๘ ม.ค.๕๕เวลา ๑๐.๐๐ น. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน เปิดงานโครงการอาชีวบำบัด ภายใต้กิจกรรมให้คนไทยยิ้มได้เหมือนเดิม พร้อมมอบเงินทุนให้ผู้เข้ารับการอบรมที่จบหลักสูตร จังหวัดสระบุรี ๑๙๐ รุ่น จำนวน ๓,๘๐๐ คน ณ ลานชุมชนวัดดงตะงาว อำเภอดอนพุด จังหวัดสระบุรี และเวลา ๑๕.๐๐ น.มอบเงินทุนให้ผู้เข้ารับการอบรมที่จบหลักสูตร จังหวัดปทุมธานี ๖๑ รุ่น จำนวน ๑,๒๒๐ คน ณ วัดกลางคลอง ๓ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวรายงาน
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยจัดช่วงเวลาเป็น ๓ ระยะ คือ ๑.ระยะเร่งด่วน ๒.ระยะช่วยเหลือเยียวยา และ๓.ระยะการฟื้นฟูหลังภัยพิภัย โดยการจัดกิจกรรมให้คนไทยยิ้มได้เหมือนเดิมนี้ อยู่ในระยะที่ ๒ ซึ่งต้องการให้ผู้ประสบภัยมีกิจกรรมทำเพื่อลดภาวะความกังวล คลายเครียด และได้รับความรู้ ทักษะทางอาชีพ โดยมีเบี้ยเลี้ยงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และสามารถนำวัสดุอุปกรณ์ในการฝึกอาชีพ พร้อมทั้งผลิตผลที่ได้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูวิถีการดำรงชีวิตสร้างรายได้ ทั้งนี้ มีการแบ่งกิจกรรมออกเป็น ๔ กิจกรรม ได้แก่ ๑.กิจกรรม เป็นขวัญกำลังใจแก่คนทำงาน คือ เยี่ยมครัวรัฐบาล ๒.กิจกรรมเสริมสร้างพลังคืนสู่วิถีชุมชน โดยในจังหวัดสระบุรี จัดกิจกรรมสร้างสุข หว่านเมล็ดพันธุ์เป็นขวัญครัว และจังหวัดปทุมธานี จัดกิจกรรมสร้างสุข ผ้าป่าพืชผักสวนครัว กลองยาวรับขวัญ ๓.กิจกรรมพิธีการเพื่อสานงานเสริมศักยภาพคน คือ การปิดอบรม พร้อมมอบเงินเบี้ยเลี้ยงแก่ผู้เข้ารับการอบรม และ๔.กิจกรรมชื่นชมและห่วงใย คือ เยี่ยมชมผลิตผลจากกิจกรรมอาชีวบำบัดที่ผ่านมา อาชีพสาธิต และพบปะผู้ประสบภัยที่เข้าร่วมกิจกรรม สำหรับการฝึกอบรมระยะสั้นและการสร้างงานสร้างรายได้ ระหว่างที่ฝึกอบรมอาชีพ ๕ วัน และได้รับเบี้ยเลี้ยง ๑๒๐ บาท/วัน ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณประจำปี ๒๕๕๕ งบกลางในการจัดกิจกรรมอาชีวบำบัดเพื่อสรรสร้างคุณภาพชีวิตและกำลังใจ เพื่อผ่อนคลายความกังวลให้แก่ผู้ประสบภัย พร้อมทั้งช่วยเหลือด้านรายได้ เป็นเบี้ยเลี้ยงการฝึกอบรม ซึ่งเป็นการดำเนินการในขณะที่ยังคงมีน้ำท่วมขัง และช่วงขณะเริ่มน้ำลด จำนวน ๖,๐๐๐ รุ่นๆละ ๒๐ คน รวม ๑๒๐,๐๐๐ คน วงเงิน ๑๘๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๔ ถึง มกราคม ๒๕๕๕ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า ๔๐๐ รุ่น ทั้งนี้แล้ว
นายสันติ กล่าวต่อว่า สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาในระยะที่ ๓ กระทรวงฯ จะดำเนินกิจกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ซึ่งจะประกอบด้วยกิจกรรม ต่างๆ เช่น การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มคนเปราะบาง การฝึกอาชีพระยะสั้น ๔๔ วัน มีการรวมกลุ่มประกอบอาชีพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่กลุ่มผู้ประสบภัย การฝึกอาชีพให้กับคนพิการและผู้สูงอายุ การจัดหารถเข็นรถโยก สำหรับคนพิการ การใช้กลไกเยาวชนจิตอาสาเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูระบบการจัดการชุมชนด้านภัยพิบัติ ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้ประสบภัยทุกท่านสามารถ ฟื้นฟู เยียวยา จิตใจ และมีรายได้ที่ดูแลตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนต่อไป