สช. สานพลังเครือข่ายสมัชชาฯ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส พัฒนาระบบจัดการภัยพิบัติ พร้อมรับมือทุกมหันภัยในอนาคต

ข่าวทั่วไป Tuesday January 10, 2012 13:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสำนักงานปฏิรูป (สปร.) พร้อมภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกว่า ๒๐ องค์กรทั่วประเทศ ได้เปิดเวทีระดมสรรพกำลัง แปลงวิกฤตเป็นโอกาส เตรียมความพร้อมทั้งระบบการจัดการเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก่อนส่งบันทึกบทเรียนเพื่อพัฒนาร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ๒-๔ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ที่สหประชาชาติ กรุงเทพฯ จากสถานการณ์มหาอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ ซึ่งนับเป็นภัยครั้งใหญ่ในรอบ ๕๐ ปี ได้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดความรู้และทักษะ รวมทั้งประสบการณ์ในการรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งในระดับการป้องกันและเตรียมความพร้อม ตลอดจนระดับการฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ยังเผยให้เห็นวิกฤตอีกมากมาย เช่น วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและภูมินิเวศ วิกฤติประสิทธิภาพของภาครัฐ เฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ขยายผลกระทบอย่างกว้างขวาง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ สำนักงานปฏิรูป (สปร.) จึงเปิดเวที “สังเคราะห์บทเรียน : จากมหาอุทกภัย สู่ข้อเสนอการพัฒนาระบบจัดการภัยพิบัติ” ขึ้นระหว่างวันที่ ๙-๑๐ มกราคม ๒๕๕๕ ที่โรงแรม ปริ๊นซ์ พาเลซ โดยผนึกกำลังเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกว่า ๒๐ องค์กรทั่วประเทศ อาทิ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายจิตอาสา สมาคมนักผังเมืองไทย เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) เป็นต้น โดยลักษณะการจัดประชุมจะจัดรูปแบบเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาประเด็นย่อย ๆ ภายใต้ระบบจัดการภัยพิบัติ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญในการจัดเวทีครั้งนี้ว่า จากมหาอุทกภัยที่ผ่านมา ทุกฝ่ายไม่ควรปล่อยให้วิกฤตครั้งนี้ผ่านไปโดยปราศจากการทบทวนบทเรียนใดๆ และแทนที่จะเห็นเพียงด้านลบของหายนะ ทุกภาคส่วนน่าจะพลิกเปลี่ยนความทุกข์เป็นความหวังและโอกาสครั้งสำคัญที่จะได้หันหน้าร่วมมือกันโดยใช้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นเวทีสาธารณะในการสร้างระบบการจัดการภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เห็นชอบให้ดำเนินงานภายใต้แนวคิดหลักเรื่องการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติอยู่ก่อนแล้ว แต่ด้วยมหาอุทกเหตุที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุสุดวิสัยต้องเลื่อนการจัดงานออกไปอีกเป็นวันที่ ๒-๔ กุมภาพันธ์ โดยระหว่างนี้ จะเร่งใช้เวลาในการปรับปรุงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ทาง สช. จึงจับมือกับ สปร. และภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพอีกกว่า ๒๐ หน่วยงานทั่วประเทศ ระดมความคิด ความรู้ และประสบการณ์ ร่วมประชุมกันอย่างจริงจังในการสร้างระบบจัดการภัยพิบัติอย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพที่สุด” นายแพทย์ พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดเวทีสังเคราะห์บทเรียนครั้งนี้ว่า เมื่อกำลังของภาครัฐในการรับมือกับภัยพิบัติเป็นไปอย่างจำกัด ชุมชนและภาคประชาสังคมจำต้องพึ่งตนเอง บทเรียนจากภัยพิบัติหลายครั้ง ทั้งในและนอกประเทศที่ผ่านมา เตือนให้ชุมชนต้องริเริ่มจัดวางระบบและการจัดการต่าง ๆ ในการรับมือกับภัยพิบัติทุกประเภทอย่างจริงจัง โดยอาศัยทุนทางสังคมของตน แล้วเสริมด้วยฐานพลังความรู้เชิงวิชาการและพลังทางสังคมจากทุกเครือข่าย “ชุมชนต่าง ๆ มีการสรุปบทเรียน หลังจากที่ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำป่าที่ภาคใต้หลายปีที่ผ่านมา หรือย้อนหลังไปที่เหตุการณ์ดินถล่มที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จนมาถึงอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา ชุมชนได้เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตนเองโดยไม่รอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดในจังหวัดพัทลุงที่โดนพายุเมื่อปลายปี ๒๕๕๓ ชุมชนขอแค่ความช่วยเหลือในเบื้องต้น เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง แต่หลังจากนั้น ชุมชนก็ร่วมมือกันในการจัดการตัวเอง” ในขณะที่ประธานเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม ภารณี สวัสดิรักษ์ กล่าวถึงความเหมาะสมในการวางผังเมืองของประเทศไทยวันนี้ “เส้นทางการไหลของน้ำที่ท่วมทั้งลำน้ำและทุ่งนาที่ผ่านมา ชวนให้ทุกฝ่ายจำต้องหันกลับมาทบทวนการวางผังเมืองว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร โดยเริ่มจากการพิจารณาแผนและเหตุผลของการวางผังเมืองในอดีตและปัจจุบัน การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม ความสอดคล้องต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ ความรู้ในเชิงภูมิศาสตร์ และปัจจัยทางการเมืองที่มีส่วนสำคัญต่อการใช้พื้นที่ตลอดจนรายจ่ายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มองไม่เห็น แต่รู้ได้” ด้านนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมในส่วนระบบการแพทย์การสาธารณสุขเพื่อรับมือภัยพิบัติว่า ระบบการแพทย์ในสถานการณ์คับขัน จำเป็นต้องได้รับการสังเคราะห์บทเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ระบบการสื่อสาร การจัดการอาหาร เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นทุกชนิด ยานพาหนะสำหรับการขนส่ง และขยะ การเตรียมระบบการออกหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่ การเตรียมสถานที่รักษาผู้ป่วยนอกสถานพยาบาล ระบบการเคลื่อนย้ายคนไข้ออกจากพื้นที่ประสบภัย การฝึกฝนเสริมทักษะให้แก่บุคลากรสาธารณสุขและอาสาสมัครในช่วงวิกฤต ตลอดจนการวางแผนระยะยาว เช่น กฎหมายควบคุมอาคารสถานพยาบาลที่ต้องอำนวยต่อการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน “กระทรวงสาธารณสุขได้ตื่นตัว เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตั้งแต่ก่อนสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาแล้ว พอเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ก็ยิ่งเห็นจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงด่วน สุดท้ายก็ได้หลักการ ๒P ๒R คือเริ่มตั้งแต่การเตรียมพร้อมด้านต่าง ๆ (Preparation) ตั้งแต่ทรัพยากรเวชภัณฑ์จำเป็นกระทั่งการส่งต่อผู้ป่วย การวางระบบป้องกัน (Prevention) ที่มีประสิทธิภาพ เช่น การข่าว และการประสานกับเครือข่ายเฝ้าระวัง ส่วนการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉิน (Response) นี่ก็สำคัญ จึงแบ่งคณะทำงานจัดการแต่ละเรื่องโดยเฉพาะ ทั้งหมดมี ๑๐ เรื่อง และก็ต้องมีการจัดการหลังเกิดภัยแล้ว (Rehabilitation) ซึ่งจะเป็นเรื่องของการฟื้นฟูเยียวยา ทั้งคน สิ่งแวดล้อม สถานบริการ รวมถึงงบประมาณด้วย” วงสังเคราะห์บทเรียนครั้งนี้ได้จำแนกหัวข้อไว้ ๙ ประเด็นย่อย อาทิ พลังชุมชนจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ระบบการแพทย์การสาธารณสุขเพื่อรับมือภัยพิบัติ ระบบข้อมูลและระบบสื่อสารเพื่อการจัดการภัยพิบัติ และผังเมืองกับการจัดการพื้นที่เสี่ยงภัย เป็นต้น โดยข้อสรุปที่ได้จากเวทีสังเคราะห์บทเรียนครั้งนี้ จะนำไปใช้พัฒนาระบบบริหารจัดการภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในอนาคต รวมทั้งยังจะนำบทเรียนดังกล่าวไปปรับปรุงร่างข้อเสนอเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งได้เลื่อนจัดเป็นวันที่ ๒-๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ติดตามความเคลื่อนไหวสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทาง www.samatcha.org ติดตามชมการถ่ายทอดสดการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทาง www.healthstation.in.th ประสานงาน : สำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นายเอกชัย เอื้อธารพิสิฐ (เอก) 02-8329148
แท็ก ภัยพิบัติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ