กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2012“ก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: เร่งพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ”
(Moving towards Universal Health Coverage: Health Financing Matters)
นับเป็นอีกครั้งที่การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลได้เวียนมาถึง โดยในปีนี้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรสุขภาพในระดับโลก อาทิ องค์การอนามัยโลก (WHO) ธนาคารโลก (World Bank) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้า (JICA) เป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุมนานาชาติ ประจำปี 2012 ในหัวข้อการประชุมว่า “ก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: เร่งพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ” (Moving towards Universal Health Coverage: Health Financing Matters)
ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการจัดการประชุม การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กล่าวว่า การประชุมที่จะเกิดขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดการคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าในระดับโลกให้บรรลุผล โดยมุ่งเน้นเรื่องปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาระบบการเงินสุขภาพ สนับสนุนการเจรจาความร่วมมือในระดับโลก และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระหว่างกลุ่มประเทศที่มีรายได้แตกต่างกัน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพดี สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพเมื่อคราวจำเป็น โดยไม่มีอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย
“กิจกรรมในการประชุมครั้งนี้ จะประกอบไปด้วยการศึกษาดูงานด้านสาธารณสุขของไทย ในกรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียง การจัดนิทรรศการของหน่วยงานต่างๆ และการประชุมในหัวข้อที่สำคัญในประเด็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามผลักดันประเด็นที่จะทำให้เกิดการคุ้มครองสุขภาพแบบถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) มาตั้งแต่ปี 2005 จากมติที่ประชุม The World Health Assembly resolution, WHA 58.33 ต่อเรื่อง “sustainable health financing, universal coverage and social health insurance” เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญในระบบการเงินสุขภาพ เพื่อกระจายความเสี่ยงและสร้างความเป็นเอกภาพ และจากการประชุมระดับโลกครั้งแรกขององค์การอนามัยโลกและสมาชิกเรื่องการวิจัยระบบสุขภาพ ในปี 2010 ที่มีแนวคิดมาจาก “science to accelerate universal health coverage” เพื่อส่งเสริมให้เกิดแรงขับเคลื่อนในเรื่องของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Coverage)
จากรายงานในหัวข้อ “การจัดหาระบบเงินสุขภาพ: เส้นทางสู่การประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (health system financing: the path to universal coverage) เมื่อปี 2010 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน และกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยรายงานดังกล่าวเชื่อมั่นว่าทุกประเทศสามารถปรับปรุงระบบการเงินสุขภาพและสามารถสร้างการคุ้มครองสุขภาพแบบถ้วนหน้าได้
นอกจากนี้แล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อปรับปรุงระบบการเงินสุขภาพ และมุ่งสู่การคุ้มครองสุขภาพแบบถ้วนหน้าต่อไป
ตลอดจนการประชุมสุดยอด G8 ในปี 2009 ก็ยังมุ่งมั่นเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ โดยมุ่งเน้นความสัมพันธ์ของ 3 องค์ประกอบ อันได้แก่ ระบบข้อมูลด้านสุขภาพ การพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ และระบบการเงินสุขภาพ นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวในระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับประเทศที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพถ้วนหน้า
“การแบ่งปันประสบการณ์ที่มีค่าจะนำมาซึ่งการพัฒนาระบบการเงินสุขภาพที่เหมาะสม และนำไปสู่การแปลงเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง“ ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช กล่าว
อย่างไรก็ตาม การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคิดเห็นของผู้นำด้านสาธารณสุขจากนานาประเทศ ในประเด็นด้านสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก เพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของมนุษยชาติ และเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย
การประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นการประชุมนานาชาติด้านสุขภาพที่ได้รับการยอมรับระดับโลก มีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานระดับนานาชาติเข้าร่วมประชุม และเสนอประเด็นนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญเป็นประจำทุกปี ที่สำคัญคือ นักวิชาการและผู้นำด้านสาธารณสุขของไทยจะมีโอกาสในการสร้างเครือข่ายกับองค์กร นักวิชาการ และผู้นำด้านสาธารณสุขในระดับโลก รวมถึงสร้างความประทับใจกับผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับประเทศไทย และส่งผลบวกต่อบทบาทของไทยในเวทีโลกในที่สุด
หัวข้อการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี 2007-2011
ปี 2007 (พ.ศ.2550) หัวข้อ: การเข้าถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับโรคที่ถูกมองข้ามและคนที่ถูกละเลย (Improving Access to Essential Health Technologies: Focusing on Neglected Diseases, Reaching Neglected Populations) นำประเด็นการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับโรคที่ถูกมองข้ามและคนที่ถูกละเลยมาเป็นหัวข้อการประชุม เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเกิดคำแนะนำในการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการเข้าถึงทางด้านสุขภาพและปรับปรุงสุขภาพของประชาชนให้ได้มากที่สุดและด้วยเหตุนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษต่อไป (MDGs)
ปี 2008 (พ.ศ.2551) หัวข้อ: เหลียวหลังแลหน้า: สามทศวรรษของการสาธารณสุขมูลฐาน (Three Decades of Primary Health Care: Reviewing the Past and Defining the Future” to commemorate the 30th anniversary of Primary Health Care) นำเสนอแนะนโยบายและการดำเนินการในทางปฎิบัติ โดยประเทศกำลังพัฒนาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการทำงานของระบบการดูแลสุขภาพเบื้องต้น
ปี 2009 (พ.ศ.2552) หัวข้อ: การขับเคลื่อนมิติสุขภาพสู่นโยบายสาธารณะ (Mainstreaming Health into Public Policies) มีสาระสำคัญในการประชุม คือ การหารือเพื่อร่างมติ / นโยบายการขับเคลื่อนมิติสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปใช้จริงและยั่งยืนในทุกๆ ระดับต่อไป
ปี 2010 (พ.ศ.2553) หัวข้อ: การจัดเวทีระดับโลก ครั้งแรก เรื่องสารสนเทศด้านสุขภาพ (Global Health Information Forum) หัวข้อการประชุม กระตุ้นให้เกิดการจัดการข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานทางด้านสุขภาพในระดับโลกอย่างเร่งด่วน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษและการเข้าถึงสากลเพื่อสุขภาพ
ปี 2011 (พ.ศ.2554) หัวข้อ: Second Global Forum on Human Resources for Health: Reviewing progress, renewing commitments to health workers towards MDGs and beyond เป็นการทบทวนความก้าวหน้าและยืนยันพันธสัญญา ในการกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์หันกลับมาทำงานในชุมชนของตนให้มากขึ้น และยังมีความพิเศษ คือการมอบรางวัล HRH Awards ให้แก่บุคคลที่เสียสละอุทิศตนเพื่อวงการแพทย์และสาธารณสุข ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยคัดเลือกจากบุคคลวงการแพทย์และสาธารณสุขจากทั่วโลกอีกด้วย