กทม. เดินหน้าพัฒนาตลาดไทยสู่การเป็นครัวโลก

ข่าวทั่วไป Tuesday March 2, 2004 10:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--กทม.
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.47) เวลา 11.00 น. นางณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.เอี่ยม วิมุติสุนทร ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ผศ.พัชรี สวนแก้ว รองอธิการบดีสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ร่วมกันแถลงข่าว “พบกันจันทร์ละหน คนกับข่าว” ครั้งที่ 120 เรื่อง การพัฒนาตลาดในกรุงเทพมหานครให้สะอาด ได้มาตรฐาน และอาหารปลอดภัยตามนโยบายรัฐบาล
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครขานรับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้ประชาชนได้บริโภคอาหารสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐานสากลและก้าวสู่การเป็นครัวของโลกภายในปี 2547 เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์รวมการนำเข้าของวัตถุดิบจากต่างจังหวัด อาจมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายที่ห้ามใช้ในอาหาร รวมถึงยาปฏิชีวนะ และฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตต่างๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องควบคุมตั้งแต่กระบวนการผลิตจนกระทั่งถึงผู้บริโภค (From Farm to Table) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง และมีสุขภาพอนามัยที่ดี
สำหรับการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว จะได้ประชุมชี้แจงให้เจ้าของตลาด 155 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ทราบถึงแนวทางการพัฒนาตลาดสะอาดของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขายของในตลาดสดทราบและให้ความร่วมมือในการพัฒนาตลาดให้สะอาด ได้มาตรฐาน ตลอดจนจำหน่ายอาหารที่สะอาดปลอดภัยต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ สำนักอนามัย ร่วมกับ สถาบัน ราชภัฏสวนดุสิต และสำนักงานเขต จะร่วมกันรณรงค์และตรวจสอบคุณภาพอาหารที่จำหน่ายในตลาด เพื่อตรวจวิเคราะห์หาสารเคมีอันตรายที่ห้ามใช้ในอาหาร ได้แก่ บอแรกซ์ สารกันรา (ซาลิซิลิค) สารฟอกขาว ฟอร์มาลิน และยาฆ่าแมลง หากตรวจพบในครั้งแรก จะทำการตักเตือน หากตรวจพบซ้ำจะดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่หากแผงค้าใดตรวจไม่พบทั้ง 3 ครั้ง กรุงเทพมหานครจะมอบป้าย รับรองให้ โดยกำหนดแผนการออกตรวจตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2547 เป็นต้นไป
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์หาสารเคมีปนเปื้อนในอาหารจากตลาดสด 147 แห่งของกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2546 จำนวน 22,408 ตัวอย่าง พบว่ามีตัวอย่างอาหารที่มีการปนเปื้อนสารบอแรกซ์ ร้อยละ 0.88 สารกันรา (ซาลิซิลิค) ร้อยละ 0.65 สารฟอกขาว ร้อยละ 0.40 ฟอร์มาลิน ร้อยละ 1.59 ยาฆ่าแมลง ร้อยละ 2.56 และสารเร่งเนื้อแดง ร้อยละ 4.84 ดังนั้นในปี 2547 สำนักอนามัยจะกวดขันการพัฒนาด้านกายภาพ ซึ่งจะดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาด 3 ปี (2546 — 2548) ของกรุงเทพมหานครเป็นหลัก โดยหลักเกณฑ์ในการพัฒนาด้านกายภาพ ได้แก่ มีการจัดเก็บสินค้า สิ่งของ วัสดุอุปกรณ์เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้เกะกะ รกรุงรัง หรือกีดขวางทางเดิน มีที่รองรับมูลฝอยสาธารณะที่ถูกหลักสุขาภิบาลอย่างเพียงพอและทำความสะอาดอยู่เสมอ รางระบายน้ำเสียสามารถระบายน้ำได้ดี ไม่มีน้ำขัง ไม่อุดตัน มีการทำความสะอาดตลาดเป็นประจำ มีการควบคุมป้องกันสัตว์และแมลงพาหะนำโรค ไม่ให้รบกวนและก่อความรำคาญ เป็นต้น ด้านคุณภาพอาหารจะต้องไม่จำหน่ายอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมและให้ความรู้แก่ผู้ขายของและผู้ช่วยขายของในตลาด โดยจัดอบรมเรื่องการสุขาภิบาลอาหารให้กับกลุ่มผู้ค้าดังกล่าว เพื่อให้รับทราบแนวทางการปฏิบัติให้ถูกต้องและบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ