กรุงเทพ--9 ม.ค.--สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
สนพ. คาดความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นปี 2555 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 4.8% จากปัจจัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ และการเร่งรัดการใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐเพื่อฟื้นฟูผลจากอุทกภัย โดยคาดว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติจะมีอัตราเพิ่มสูงสุดคือประมาณ 7.4% จากผลของการใช้ NGV และไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ประมาณการความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นในปี 2555 อยู่ที่ระดับ 1.94 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ประมาณ 4.8% ทั้งนี้มาจากปัจจัยที่สำคัญซึ่งประกอบด้วย การคาดการณ์อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโต 4.5 — 5.5% ?บวกกับปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ และการเร่งรัดการลงทุนเพื่อปรับปรุงฟื้นฟูกิจการต่าง ๆที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา รวมทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยจะอยู่ที่ 105 — 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 105 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
เมื่อจำแนกตามพลังงานแต่ละชนิดคาดว่า ในปี 2555 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับพลังงานประเภทอื่น กล่าวคือ จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 7.4% (ปริมาณ 874,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ทั้งนี้เนื่องจากมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นทั้งภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคการขนส่งที่ผู้ใช้รถบางส่วนเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิง NGV แทน รวมทั้งภาคโรงงานอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี ซึ่งจะส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้น
สำหรับประเภทเชื้อเพลิงที่มีความต้องการใช้รองลงมาในปี 2555 คือ น้ำมัน ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.3% (ปริมาณ 694,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ส่วนลิกไนต์/ถ่านหินความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น 2.8%(ปริมาณ 324,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ?และพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้น 1.9%(ปริมาณ 55,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน)
ทั้งนี้ คาดว่าการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในภาพรวมปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 3.3% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของก๊าซ LPG มากที่สุดถึง 11.2% (ไม่รวมการใช้ LPG ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) ?รองลงมาเป็นการใช้เพิ่มในน้ำมันเครื่องบินซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4.8% เนื่องจากการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยที่ผ่านมา ส่วนการใช้น้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2.9% และน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.9% ขณะที่น้ำมันเตามีการใช้ลดลงประมาณ 17.6%
? น้ำท่วมส่งผลปี 2554 ยอดใช้เบนซิน-ไฟฟ้าลด
อย่างไรก็ดี สถิติในปี 2554 ที่ผ่านมาพบว่า การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นอยู่ที่ 1.85 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 4.1% โดยก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนการใช้มากที่สุดคือ 44% ซึ่งมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.8% ส่วนการใช้น้ำมันมีสัดส่วนรองลงมาที่ 36% และมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.0% ขณะที่ถ่านหินนำเข้ามีการใช้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.3% และการใช้ลิกไนต์เพิ่มขึ้น 5.6% สำหรับการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าจะเพิ่มขึ้น 48.2% ซึ่งเกิดจากมีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป. ลาว เพิ่มขึ้น โดยในปี 2554 มีไฟฟ้านำเข้าจากแหล่งน้ำงึม 2 ขนาด 615 เมกะวัตต์ ที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 เพื่อชดเชยก๊าซธรรมชาติที่ลดลงในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2554 อันเนื่องจากเหตุการณ์ท่อส่งก๊าซธรรมชาติรั่วในอ่าวไทย ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากในช่วงปลายปี เพราะมีพายุพัดเข้าไทยจำนวน 5 ลูก
ในด้านมูลค่าการใช้พลังงาน ปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวมประมาณ 1.91 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนหน้า 6.2% โดยมูลค่าการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 43% น้ำมันเพิ่มขึ้น 7.7% ถ่านหินเพิ่มขึ้น 5.2% และพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 3.8%
ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าพลังงานรวมปี 2554 อยู่ที่ 1.24 ล้านล้านบาท โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 79% การที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่สูงขึ้นเพราะปัญหาความไม่สงบภายในประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลายประเทศ นอกจากนี้มูลค่าการนำเข้าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากมีการนำเข้าไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำงึม 2 ของ สปป.ลาว และมูลค่าการนำก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเพราะมีการนำเข้า LNG เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและ NGV
สำหรับการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในปี 2554 มีการใช้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% โดยน้ำมันเครื่องบินมีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นมากที่สุด 7.6% รองลงมาคือ LPG (ไม่รวมการใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี)มีการใช้เพิ่มขึ้น 8.1% น้ำมันดีเซลใช้เพิ่มขึ้น 3.1% ในขณะที่การใช้น้ำมันเบนซินลดลง 1.6% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางอุทกภัยและผู้ใช้รถบางส่วนเปลี่ยนไปใช้ NGV แทน และน้ำมันเตาก็ลดลง 6.5%
สถานการณ์ด้านไฟฟ้าในปี 2554 มีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้าอยู่ที่ 31,447 เมกะวัตต์ โดยความต้องการไฟฟ้าสูงสุด (Gross Peak Generation) อยู่ที่ระดับ 24,518 เมกะวัตต์ ซึ่งต่ำกว่าระดับ Peak ของปี 2553 ประมาณ 0.5% โดยปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 147,836 กิกะวัตต์ชั่วโมง ลดลงจากปี 2553 ประมาณ 0.6% เนื่องจากช่วงต้นปีที่แล้วไทยมีอากาศหนาวเย็นเป็นเวลานานและมีฝนตกมากกว่าปกติ รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินและสึนามิในญี่ปุ่นส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจของไทย และปลายปียังเกิดภัยพิบัติกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง จึงทำให้การใช้ไฟฟ้าลดลง โดยการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 45% มีการใช้ไฟลดลง 0.04% ภาคธุรกิจใช้ไฟลดลง 0.3% ภาคครัวเรือนใช้ไฟลดลง 1.8% และภาคเกษตรกรรมใช้ไฟลดลง 12.7%