ไอบีเอ็มเผย 5 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราในอีก 5 ปีข้างหน้า

ข่าวเทคโนโลยี Friday January 13, 2012 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เทคโนโลยีมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนยากที่เราจะแบ่งแยก ระหว่างนิยายวิทยาศาสตร์ และความจริงออกจากกันได้ การสร้างสรรค์นวัตกรรมบางครั้งก็บังคับให้มนุษย์เราต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี แทนที่จะปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้เข้ากับความต้องการของเรา อย่างไรก็ดี ในอีก 5 ปีข้างหน้า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากมายจะช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างที่สำคัญที่สุดสำหรับโลกของเรา พร้อมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน นวัตกรรมเหล่านี้นอกจากจะช่วยเปลี่ยนอนาคตแล้ว ยังทำให้โลกของเราปลอดภัยและน่าอยู่มากขึ้นอีกด้วย 1) คุณจะสามารถสร้างพลังงานขึ้นเองเพื่อใช้ภายในบ้าน สิ่งใดก็ตามที่เคลื่อนไหวได้ก็สามารถสร้างพลังงานได้ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าที่คุณใส่เดิน รถจักรยาน หรือแม้กระทั่งน้ำที่ไหลผ่านท่อประปาภายในบ้าน ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะช่วยให้เราสามารถเก็บรวบรวมพลังงานนี้ และนำมาใช้งานภายในบ้าน สถานที่ทำงาน และแม้กระทั่งเมืองต่างๆ ตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ขนาดเล็กหรือแบตเตอรี่ที่ต่อเข้ากับซี่ล้อจักรยานของคุณ จะสามารถเก็บรวบรวมพลังงานที่เกิดขึ้นในทุกรอบการหมุนของแป้นจักรยาน และเมื่อกลับถึงบ้าน คุณก็ถอดอุปกรณ์ดังกล่าว และเสียบปลั๊กเพื่อดึงพลังงานนั้นมาใช้สำหรับอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่หลอดไฟไปจนถึงเตาไมโครเวฟ พลังงานที่สร้างขึ้นนี้มีอยู่ทุกที่ และเราสามารถเก็บกักพลังงานนั้นได้หลายวิธี ซึ่งในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มในไอร์แลนด์กำลังศึกษาหนทางที่จะเก็บเกี่ยวพลังงานคลื่นในมหาสมุทรและแปลงเป็นกระแสไฟฟ้า 2) คุณจะไม่ต้องใช้รหัสผ่านอีกต่อไป ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องสร้างและจดจำรหัสผ่านมากมายที่น่ามึนงงอีกต่อไป แต่จะสามารถใช้ลักษณะทางชีววิทยาที่โดดเด่นแตกต่าง นั่นคือ เสียงพูด ใบหน้า ดวงตา แทนได้ เราสามารถเดินไปที่ตู้เอทีเอ็มและถอนเงินได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่จ้องไปที่กล้องเท่านั้น ทั้งนี้เพราะมีการใช้ระบบข้อมูลชีวมาตร หรือไบโอเมตริก (Biometric) ซึ่งใช้ซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าและเสียงพูด รวมถึงภาพสแกนม่านตา ซึ่งแต่เดิมระบบนี้จำกัดการใช้งานเฉพาะในบางองค์กรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น แต่ในอนาคตจะขยายเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคทั่วไป นั่นหมายความว่าระบบล็อกอินจะใช้งานง่ายขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น และแน่นอนว่าผู้ใช้แต่ละคนจะสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ระบบเหล่านี้หรือไม่ และจะเปิดเผยข้อมูลใดบ้าง 3) ปัญหาช่องว่างดิจิตอลจะถูกขจัดจนหมดสิ้น ในอนาคตจะไม่มีช่องว่างระหว่างผู้ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีกับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อีกต่อไป ต้องขอบคุณเทคโนโลยีโมบายล์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ยอดจำหน่ายอุปกรณ์พกพาจะแตะระดับ 5.6 พันล้านเครื่อง ขณะที่โลกของเรามีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 7 พันล้านคน เนื่องจากโทรศัพท์มือถือเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และราคาก็ลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นระบบโมบายล์จะก่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน พร้อมบริการมากมายบนโทรศัพท์มือถือซึ่งจะตอบสนองทุกความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธนาคาร การแพทย์ หรือการศึกษา ตัวอย่างเช่น ในอินเดีย ไอบีเอ็มสร้างบริการโดยใช้เทคโนโลยีเสียงพูดและอุปกรณ์พกพาเพื่อช่วยให้ชาวชนบทที่ไม่รู้หนังสือสามารถถ่ายทอดข้อมูลสำคัญๆ เช่น รายงานสภาพอากาศ หรือกำหนดการที่แพทย์จะเดินทางเข้ามาให้บริการตรวจสุขภาพในละแวกใกล้เคียง 4) การอ่านใจจะไม่ใช่เรื่องที่พบเห็นได้เฉพาะในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป การเชื่อมโยงสมองของคนเราเข้ากับอุปกรณ์พกพา ตั้งแต่แลปท็อปไปจนถึงสมาร์ทโฟน จะเริ่มกลายเป็นความจริงในไม่ช้า ตัวอย่างเช่น ในอนาคตอันใกล้ ถ้าหากคุณนึกอยากโทรศัพท์ถึงใครบางคน คุณก็เพียงแค่นึกถึงชื่อของบุคคลนั้น แล้วโทรศัพท์ก็จะจัดการส่วนที่เหลือเอง นักวิทยาศาสตร์ในสาขาวิชาชีวสารสนเทศ หรือไบโออินฟอเมติกส์ (Bioinformatics) ได้ออกแบบชุดหูฟังที่มีเซ็นเซอร์ที่ก้าวล้ำสำหรับอ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง รวมถึงสีหน้า และทำความเข้าใจว่าบุคคลนั้นตั้งใจที่จะทำอะไร โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องขยับร่างกายเลยแม้แต่น้อย ภายใน 5 ปีข้างหน้า เราจะเริ่มต้นเห็นการประยุกต์ใช้งานแบบแรกๆ สำหรับเทคโนโลยีนี้ ซึ่งจะปรากฏในอุตสาหกรรมเกมและความบันเทิง และแม้กระทั่งแวดวงการแพทย์ เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถค้นหาวิธีที่ง่ายดายกว่าและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติของสมอง เช่น โรคสมาธิสั้น หรือออทิซึ่ม และจัดการการฟื้นฟูผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม 5) เมลขยะจะกลายเป็นเมลสำคัญ อีกไม่นาน โฆษณาที่ไม่พึงประสงค์อาจมีลักษณะสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับอย่างมาก จนกระทั่งเมลขยะหรือสแปมอาจถึงขั้นอวสานไปเลยทีเดียว นั่นเป็นเพราะว่าคอมพิวเตอร์จะสามารถคัดกรองและค้นหาข้อมูลใหม่ๆ ให้แก่บุคคล โดยที่เขาไม่ต้องเอ่ยถามเลยด้วยซ้ำ บริการใหม่ๆ จะเรียนรู้จากบิตข้อมูลมากมายมหาศาลที่ประกอบสร้างขึ้นในชีวิตของคนคนหนึ่ง ตั้งแต่การซื้อตั๋วเครื่องบินไปจนถึงข้อมูลอัพเดตในเฟซบุ๊ก หรือการค้นหาข้อมูลสภาพอากาศ และจะนำเสนอข้อมูลใหม่หรือข้อเสนอสุดพิเศษได้อย่างเหมาะสม ลองนึกภาพว่าคุณได้รับการแจ้งเตือนผ่านทางโทรศัพท์มือถือว่ากำลังจะมีพายุหิมะเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแผนการเดินทางของคุณ พร้อมทั้งแนะนำเที่ยวบินอื่นที่ปลอดภัยกว่า หรือลองนึกภาพว่าตั๋วคอนเสิร์ตของวงดนตรีที่คุณโปรดปรานถูกจับจองไว้ให้คุณทันทีที่เปิดขาย ในท้ายที่สุดแล้ว ผู้บริโภคจะไว้วางใจในบริการเหล่านี้ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าตามคำแนะนำผ่านบริการดังกล่าวในทุกๆ สัปดาห์ สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด จินรี ตัณมณี โทร. 02 273 4676 chinnare@th.ibm.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ