กรุงเทพฯ--13 ม.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็มเผย IBM Five in Five 5 นวัตกรรมล้ำยุค ที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนเรารวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆใน 5 ปีข้างหน้า การสร้างสรรค์นวัตกรรมเหล่านี้ให้กลายเป็นจริงใน 5 นวัตกรรม คือ 1. มนุษย์สามารถสร้างพลังงานมาใช้ได้เอง 2. มนุษย์จะใช้เสียงพูด ใบหน้าและดวงตาแทนรหัสผ่านได้ 3. มนุษย์สามารถใช้สมองสั่งงานแลปท็อปและโทรศัพท์มือถือได้ 4. ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีโมบายล์ 5. คอมพิวเตอร์จะช่วยคัดกรองและแจ้งข้อมูลสำคัญที่สอดคล้องกับความต้องการของเรา
นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มได้คิดค้นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อช่วยสร้างสรรค์โลกให้ฉลาดขึ้นภายใต้แนวคิด “Smarter Planet” มาอย่างต่อเนื่องจากผลงานวิจัยในแล็บของไอบีเอ็มทั่วโลก ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเหล่านี้ให้กลายเป็นจริงได้ โดยล่าสุดได้เปิดเผยนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของคนเราในอีก 5 ปีข้างหน้า IBM Five in Five ดังต่อไปนี้
มนุษย์สามารถสร้างพลังงานขึ้นเองเพื่อใช้ภายในบ้าน นวัตกรรมแรกคือการที่ทุกคนสามารถสร้างพลังงานเพื่อใช้ภายในบ้านขึ้นเองได้ การเคลื่อนไหวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่งจ๊อกกิ้ง ขี่จักรยาน และสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา เช่นความร้อนจากคอมพิวเตอร์ก็สามารถสร้างพลังงาน ซึ่งเราสามารถเก็บรวบรวมและนำพลังงานสะอาดนี้มาใช้งานภายในบ้าน สถานที่ทำงาน และเมืองต่างๆ โดยนักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มในไอร์แลนด์กำลังศึกษาวิธีการแปลงพลังงานคลื่นในมหาสมุทรให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ทุกคนไม่จำเป็นต้องใช้รหัสผ่านอีกต่อไป มนุษย์จะใช้เสียงพูด ใบหน้าและดวงตาแทนรหัสผ่านได้ ในอนาคตเราจะไม่ต้องใช้รหัสผ่านอีกต่อไป เพราะข้อมูลทางไบโอเมตริก (Biometric) เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับเค้าโครงใบหน้า การสแกนม่านตา และไฟล์เสียงพูด จะถูกประกอบเข้าด้วยกันผ่านทางซอฟต์แวร์ เพื่อสร้างรหัสผ่านออนไลน์ เราจึงสามารถเดินไปที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อถอนเงินอย่างปลอดภัย โดยเพียงแค่พูดชื่อหรือมองเข้าไปในเซ็นเซอร์ขนาดเล็กที่สามารถรับรู้ความแตกต่างในม่านตาของคุณเท่านั้น
มนุษย์สามารถใช้สมองสั่งงานแลปท็อปและโทรศัพท์มือถือได้ การอ่านใจจะไม่ใช่เรื่องที่พบเห็นได้เฉพาะในนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มในสาขาวิชาชีวสารสนเทศ หรือไบโออินฟอเมติกส์ (Bioinformatics) กำลังทำการค้นคว้าวิธีการเชื่อมโยงสมองของคนเข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน รวมถึงการออกแบบชุดหูฟังที่มีเซ็นเซอร์พิเศษสำหรับอ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง รวมถึงสีหน้า ระดับความตื่นเต้น การมีสมาธิจดจ่อ และความคิดของบุคคล โดยที่บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องขยับร่างกาย ภายใน 5 ปีข้างหน้าเราจะเริ่มเห็นการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีนี้ในอุตสาหกรรมเกมและความบันเทิง รวมถึงวงการแพทย์เพื่อทดสอบแบบแผนของสมอง และอาจช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกิดภาวะเส้นเลือดสมองแตก และช่วยในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติของสมอง เช่น โรคสมาธิสั้น ได้อีกด้วย
ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีโมบายล์ ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ ช่องว่างระหว่างผู้ที่มีข้อมูลและผู้ที่ไม่มีข้อมูลจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโมบายล์ ในอินเดีย ไอบีเอ็มใช้เทคโนโลยีเสียงพูดและอุปกรณ์พกพาเพื่อช่วยให้ชาวชนบทที่ไม่รู้หนังสือสามารถถ่ายทอดข้อมูลผ่านทางข้อความที่บันทึกไว้ในโทรศัพท์ และการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น การช่วยให้คนเหล่านี้สามารถตรวจสอบรายงานสภาพอากาศ รู้ว่าจะมีแพทย์เดินทางเข้ามาในเมืองเมื่อไร และยังสามารถตรวจสอบระดับราคารับซื้อที่ดีที่สุดสำหรับพืชผลทางการเกษตร สำหรับชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้นจะสามารถใช้เทคโนโลยีโมบายล์เพื่อรองรับการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ และปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน โดยอาศัยโซลูชั่นและรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เช่น โมบายล์คอมเมิร์ซ และบริการทางการแพทย์ระยะไกล
คอมพิวเตอร์จะคัดกรองข้อมูลสำคัญๆให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของเราได้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า โฆษณาที่ไม่พึงประสงค์อาจมีลักษณะสอดคล้องกับความต้องการของผู้รับอย่างมาก จนกระทั่งสแปมจะถึงขั้นอวสานไปเลยทีเดียว เพราะไอบีเอ็มกำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อกลั่นกรองและผนวกรวมข้อมูลจากทุกแง่มุมของชีวิตคุณ ตั้งแต่ข่าวสาร ไปจนถึงกีฬาและการเมือง เทคโนโลยีจะรู้ว่าคุณชื่นชอบและต้องการอะไร เพื่อนำเสนอและแนะนำข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์แก่คุณอย่างแท้จริง อาทิ ตั๋วคอนเสิร์ตของวงดนตรีที่ชอบจะถูกจองไว้ให้ทันทีที่เปิดขาย และจะสามารถซื้อตั๋วนั้นได้ทันทีจากอุปกรณ์พกพา เป็นต้น
สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม :
ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
จินรี ตัณมณี โทร. 02 273 4676 chinnare@th.ibm.com