ปภ. เตือนจมน้ำ อุบัติภัยร้ายคร่าชีวิตเด็กไทย

ข่าวทั่วไป Monday January 16, 2012 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนจมน้ำอุบัติภัยคร่าชีวิตเด็กไทย พร้อมแนะผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ริมน้ำหรือเล่นน้ำตามลำพัง จัดสภาพแวดล้อมรอบบ้านให้ปลอดภัย ปิดฝาครอบภาชนะเก็บน้ำ จัดทำรั้วรอบบ่อน้ำ สระน้ำในบริเวณบ้าน เพื่อป้องกันการพลัดตก ทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิต ที่สำคัญ ควรให้เด็กสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่เล่นกิจกรรมทางน้ำ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เด็กจะได้สามารถลอยตัวรอการช่วยเหลือในน้ำได้อย่างปลอดภัย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุบัติภัยในเด็กมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอุบัติภัยทางน้ำ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำกว่าปีละ 1,400 คน เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีป้องกันอุบัติภัยจากการจมน้ำในเด็ก ดังนี้ เด็กอายุ 1 — 4 ปี ส่วนใหญ่มักจมน้ำเสียชีวิตในแหล่งน้ำบริเวณรอบบ้าน ดังนั้น ผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กอาบน้ำในห้องน้ำ หรืออยู่ในบริเวณที่มีถังน้ำ อ่างน้ำตามลำพัง เพราะหากเด็กจมน้ำ จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปลอดภัย รวมถึงจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านและรอบบ้านให้ปลอดภัย โดยจัดให้มีฝาปิดครอบภาชนะเก็บน้ำ ทำรั้วกั้นบ่อน้ำรอบบ้าน ตลอดจนจำกัดพื้นที่เล่นสำหรับเด็ก ไม่ให้เด็กเล่นใกล้แหล่งน้ำ เพื่อป้องกันอันตรายจากการพลัดตกน้ำ และควรสอนให้เด็กเรียนรู้อันตรายจากน้ำ โดยเล่าพร้อมทำท่าทางประกอบเพื่อให้เด็กเข้าใจง่าย สำหรับเด็กอายุ 5 — 17 ปี ส่วนใหญ่มักจมน้ำเสียชีวิตบริเวณแหล่งน้ำในชุมชนหรือแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ผู้ปกครองจึงควรสอนให้เด็กว่ายน้ำให้เป็นและมีทักษะในการช่วยเหลือตนเองอย่างปลอดภัย ไม่ให้เด็กยืนหรือเล่นริมสระน้ำ บ่อน้ำ สะพานไม้หรือเล่นเครื่องเล่นทางน้ำตามลำพัง เพราะเด็กอาจพลัดตกน้ำ แม้เด็กจะว่ายน้ำเป็น ก็ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพังหรือไปเล่นน้ำในสถานที่ไม่คุ้นเคย เพราะหากเด็กเป็นตะคริวหรือถูกคลื่นดูดจะไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน ที่สำคัญ ควรให้เด็กสวมใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเล่นกิจกรรมทางน้ำ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เด็กจะได้สามารถลอยตัวรอการช่วยเหลือในน้ำได้อย่างปลอดภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ