เปิด 3 มุมมอง “ครูสอนดี” ผู้อุทิศตนเพื่อเด็ก จิตวิญญาณแห่งความเป็น “ครู” ที่ไม่เคยเลือนหาย

ข่าวทั่วไป Monday January 16, 2012 14:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--16 ม.ค.-- ในปัจจุบันอาชีพ “ครู” ดูเหมือนว่าจะเป็นอาชีพสุดท้ายที่คนรุ่นใหม่หลายๆ คนใฝ่ฝันอยากจะเป็น ทั้งนี้เนื่องจากภาพรวมของอาชีพนี้ที่ถูกมองว่าเป็นงานหนัก รายได้น้อย ไม่ได้มีหน้าตาหรือถูกยอมรับจากสังคม แต่ในขณะเดียวกันเราไม่อาจปฏิเสธว่า “คุณภาพของครู เป็นตัวกำหนดคุณภาพทางการศึกษา” ในหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับอาชีพครูเป็นอย่างมาก อย่างประเทศสิงคโปร์ได้มีการออกกฎหมายให้ผู้มีสิทธิ์สมัครเป็นครูต้องมาจากหัวกระทิลำดับต้นๆ ของชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ด้วยความสำคัญดังกล่าว “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน” หรือ “ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงเกิดขึ้นเพื่อมุ่งปฎิรูปค่านิยมที่สังคมมีต่อครู ด้วยการเชิดชูยกย่อง และมอบรางวัลให้แก่ครูสอนดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ครูท้องถิ่นและครูทั้งประเทศ แต่ความเป็น “ครู” ไม่ได้ถูกกำหนดไว้เฉพาะผู้ที่ทำงานในสถาบันศึกษาเพียงเท่านั้น “ความเป็นครู” เกิดขึ้นได้กับคนทุกสาขาอาชีพที่ทุ่มเทเสียสละในการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบ ที่ถึงแม้กระแสโลกาภิวัฒน์จะไหลบ่าอย่างรุนแรงแค่ไหน “จิตวิญญาณของความเป็นครู” ที่มีคุณค่ามากกว่าการยืนถือชอล์กหน้ากระดานดำ ก็ไม่เคยถูกกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงพัดพาไปจนหมดสิ้นหรือเลือนหายไปจากสังคมไทย วรัทยา จันทรัตน์ หรือ “ครูเจี๊ยบ” ของเด็กเร่รอนและเด็กด้อยโอกาสจากชุมชนริมทางรถไฟในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา ที่ทำงานเป็นครูอาสาดูแลเด็กเร่ร่อนมานานกว่า 7 ปี บอกเล่าถึงงานที่ทำว่าเปรียบเสมือนการเพาะปลูกต้นไม้หลากสายพันธุ์ ที่ต้องหมั่นเติมความรู้เป็นปุ๋ย รดน้ำด้วยความรัก และยังต้องช่วยประคับประคองให้ต้นไม้แต่ละต้นเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง “อยากให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีโอกาส ได้เรียนหนังสือ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ต้องใช้ชีวิตเร่ร่อน เป็นขอทาน เก็บของเก่าขาย เพราะการศึกษาคือพื้นฐานของชีวิต ถ้ามีพื้นฐานดี ก็จะเป็นผลทำให้สิ่งอื่นๆ ในชีวิตดีขึ้น เด็กเร่ร่อนก็เป็นคนที่มีความสำคัญของสังคม ถ้าเขาได้รับการพัฒนา มีคนหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้ เขาก็จะมีโอกาสพัฒนาเป็นคนที่ดี เป็นคนที่มีค่าของสังคมได้” โดยกิจกรรมหลักที่ทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ก็คือเรื่องของการให้การศึกษา ด้วยการให้ความรู้ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กสามารถอ่านออกเขียนได้ คนที่มีความพร้อมในการเรียนก็ส่งต่อให้เข้าเรียน แต่สิ่งสำคัญก็คือเน้นการสอนทักษะชีวิตให้เขาสามารถใช้ชีวิตเร่ร่อนได้อย่างมีคุณภาพ มีการปรับพฤติกรรมเด็กผ่านการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต เช่นการมีชีวิตอยู่ในสังคม การดูแลสุขภาพร่างกายตนเอง มีจิตสาธารณะ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกันต่างๆ ให้เกิดขึ้นในตัวของเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กเร่ร่อนเหล่านี้ไม่กลายเป็นปัญหาและภาระกับสังคม “ความสุขในชีวิตของใครหลายคนอาจจะอยู่ที่การทำงานได้ค่าตอบแทนสูง แต่ความสุขของเราอยู่ที่การได้ทำงานเพื่อเด็กๆ ด้อยโอกาส ได้เป็นครูสอนวิชาชีวิตให้กับเด็กเร่ร่อน เพราะครูคือผู้ให้ ให้ด้วยการเติมเต็มความรัก เพิ่มเติมความรู้ เด็กก็เหมือนกับเมล็ดพันธ์ต้นไม้ที่เราต้องเติมเต็มปุ๋ยความรักและความรู้ เมื่อเราได้เฝ้าดูได้เห็นเขาเติบโตขึ้นเป็นคนดีในสังคมเราก็มีความสุขที่สุดแล้ว” ครูเจี๊ยบกล่าว จากหัวเมืองประตูสู่ดินแดนอีสานข้ามไปยังผืนป่าตะวันตก ยังชุมชนที่ชายขอบผืนป่าห้วยขาแข้ง ที่สัญญาณโทรศัพท์มือถือเข้าไปไม่ถึง แต่กลับมีครูสาวอีกคนหนึ่งที่ยังคงทุ่มเทการเติมเต็มความรู้ให้กับเด็กชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง ท่ามกลางความยากลำบากและความขาดแคลนในด้านต่างๆ เบญจมาภรณ์ ภูฆัง หรือ “ครูเบญ” จากโรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้วเกือบถอดใจในการมาสอนหนังสือที่นี่เพราะความทุรกันดาร แต่เมื่อได้อ่านพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ว่า “เมื่อจะทำงาน อย่าหยิบยกเอาความขาดแคลนเป็นข้ออ้าง จงทำงานท่ามกลางความขาดแคลนให้บรรลุผล จงทำด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์" จึงทำให้ครูสาวจากเมืองสุพรรณฯ มีกำลังใจในการทำงานเพื่อเด็กๆ ขึ้นมาอีกครั้ง “ตอนนั้นก็เลยฉุกคิดได้ว่าความลำบากต่างๆ ไม่ใช่ข้ออ้าง สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวของเราต่างหากว่าเราจะทำหรือไป อะไรที่ทำได้ก็ทำไปก่อน” ครูเบญกล่าว ด้วยความที่โรงเรียนตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอ การเดินทางก็ยากลำบาก ทำให้เด็กๆ ที่โรงเรียนแห่งนี้ขาดโอกาสทั้งเรื่องของสื่อการเรียนการสอน ขาดแคลนครู งบประมาณของโรงเรียนก็ไม่เพียงพอ ถึงมีไฟฟ้าแต่ก็ติดๆ ดับๆ ไม่มีโทรศัพท์พื้นฐานหรือแม้แต่สัญญาณมือถือ รวมไปถึงเรื่องของภาษาที่ใช้ก็เป็นอุปสรรค์ในการทำงาน เพราะเด็กกว่าร้อยละ 99 ใช้ภาษากระเหรี่ยงเป็นหลัก “ในเมื่อเรารู้ว่าเขาขาดโอกาส แต่เราจะไม่ใช้ปัญหานี้มาเป็นอุปสรรคในการทำงาน ครูทุกคนที่นี่จะทำงานด้วยความมุ่งมั่น ใช้ความเสียสละมาก่อนเป็นอันดับแรก ต้องอุทิศเวลาทำงานโดยใช้เวลาที่นอกเหนือไปจากเวลาราชการ บางครั้งเราก็ต้องออกไปหาความอนุเคราะห์สนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ ด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนของเรา ในวันหยุดเสาร์หรืออาทิตย์ เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสและสิ่งดีๆ” นอกจากครูทั้งหมดจะต้องดูแลนักเรียนกว่า 160 คนแล้ว ยังต้องแบ่งเวลาเดินทางบุกป่าฝ่าเขาเข้าไปสอนหนังสือยัง “ที่พักเรียน” ในชุมชนบ้านคลองเสลาเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ อีก 81 คนที่ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงในเรื่องของการศึกษาให้เท่าเทียมกับเด็กๆ ในที่อื่นๆ ของประเทศ ซึ่งนอกจากภาระหน้าที่ในการสอนหนังสือแล้ว ครูในโรงเรียนแห่งนี้ยังทำอีกหลายหลายอย่าง เช่นในตอนเช้าทำหน้าที่เป็นภารโรงร่วมกับนักเรียนทำความสะอาดดูแลโรงเรียน เป็นแม่ครัวช่วยกันทำอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ เป็นช่างตัดผมให้เด็กๆ เนื่องจากในชุมชนไม่มีร้านตัดผม ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัย ตั้งแต่จัดหาแปรงสีฟัน ยาสีฟัน ตรวจฟัน หาเหา รวมไปถึงเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม หากไม่เพียงพอก็ไปออกไปขอความอนุเคราะห์จากองค์กรหน่วยงานต่างๆ มาให้ “สิ่งที่ทำไปทั้งหมดครูทุกคนมีวัตถุประสงค์เดียวกันก็คืออยากจะพัฒนาเด็กๆ ในฐานะที่เขาเป็นเด็กไทย ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่เขาก็ควรที่จะได้รับโอกาสในหลายๆ ด้านให้เท่าเทียมกับเด็กคนอื่นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในด้านการศึกษา หรือโอกาสอื่นๆ ที่เขาควรจะได้รับ โดยหวังว่าเขาจะเติบโตไปเป็นเยาวชนที่ดีและมีคุณภาพ เท่าเทียมกับเด็กไทยคนอื่นๆ ของประเทศ” ครูเบญกล่าว กลับเข้ามายังเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่ความเจริญและการพัฒนาในทุกๆ ด้านได้ก่อให้เกิดช่องว่างในสังคมเพิ่มสูงขึ้น ก็ยังมีครูอีกคนหนึ่งที่ทุ่มเทเสียสละทุนทรัพย์และเวลาส่วนตัวทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อนและเด็กโอกาส อันเป็นผลพวงมาจากความเหลื่อมล้ำของสังคมมานานกว่า 13 ปี ด.ต.สมศักดิ์ บุญรัตน์ หรือ “พ่อครู” ครูตำรวจข้างถนนของเด็กเร่ร่อนในพื้นที่กว่า 50 ชุมชนของกรุงเทพมหานคร ที่ถึงแม้ว่าอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จะดูเหมือนว่าไม่สามารถเข้ากันได้กับพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้ แต่เมื่อถอดเครื่องแบบสีกากีแล้วเดินเข้าหาหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และความเมตตา ช่องว่างระหว่างปัญหาก็ดูเหมือนว่าจะแคบลง “ทุกคนจะมองเด็กกลุ่มนี้ว่าไม่น่าไว้วางใจ ไม่ให้โอกาสเด็ก แต่ไม่เคยรู้เลยว่าปัญหาของเด็กเร่ร่อนเกิดมาเพราะอะไร ไม่มองย้อนกลับไปดูที่ต้นเหตุว่ามาจากปัญหาครอบครัว ชุมชน สิ่งแวดล้อม จริงแล้วเด็กทุกคนมีพื้นฐานจิตใจที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กมาจากการกระทำและสั่งสมของผู้ใหญ่” ทำให้ทุกวันนี้การทำงานของครูตำรวจข้างถนน จึงมุ่งเน้นไปที่การทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กออกมาเร่ร่อน โดยเข้าไปสกัดกั้นที่ชุมชนและครอบครัว โดยทำให้เด็กๆ ได้รับรู้ว่าหากออกไปเร่ร่อนสร้างความเดือดร้อนให้สังคม อนาคตก็คือตายหรือติดคุก ด้วยการให้ความรู้ โดยเน้นไปที่การสอนให้เป็นคนดี สอนให้เด็กได้รู้จักคิด รู้จักผิดชอบชั่วดี ให้รู้จักคุณค่าของตัวเอง ให้ความรักและความอบอุ่น เพื่อให้เขาปรับตัวเป็นคนดี ให้สังคมยอมรับ “ทุกวันนี้ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นตำรวจเลย เพราะงานของตำรวจเป็นงานที่ทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา แต่งานของครูจิตอาสาเป็นงานที่ต้องดูแลเด็กแต่ละคนอย่างละเอียดลึกซึ้ง เป็นงานที่ท้าทายเพราะต้องทำความเข้าใจเด็กแต่ละคน ทำคนที่ไม่ดีให้เป็นคนดีกลับสู่สังคม และทำให้เด็กเหล่านี้ได้รู้จักว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะไปก่อปัญหาให้กับสังคมเมื่อไร แทนที่จะไปไล่จับโจร เรามาหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดดีกว่า เพราะเมื่อคุณภาพชีวิตคนดี สังคมก็จะดี” “จริงๆ แล้วเด็กเหล่านี้ต่างหากที่เป็นครูของเรา เพราะเขาเอาชีวิตของเขามาสอนเรา เป็นประสบการณ์ให้เราเอาไปถ่ายทอดสอนคนอื่นๆ นำไปปรับปรุงแก้ไขชีวิตของเด็กคนอื่นๆ ในชุมชน ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ เด็กทุกคนจึงเป็นครูของเราที่ดีที่สุด” พ่อครูตำรวจกล่าว เหล่านี้เป็นทัศนะเพียงบางส่วนจากครูผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับทุนในโครงการ “ครูสอนดี” ของ “สสค.” ที่ล้วนทุ่มเทอุทิศตนเพื่อเด็กและเยาวชน ?ที่สะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่ไม่เคยเลือนหาย และจะถูกจุดประกายให้ส่องสว่างขึ้นมาอีกครั้งเมื่อสังคมตระหนัก เห็นคุณค่า และให้ความสำคัญกับ “ครู” ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น “ครูอาชีพ” แต่มีความเป็น “ครู” อยู่ในหัวใจอย่างแท้จริง.

แท็ก วิญญาณ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ