กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--สวทน.
สวทน.เดินหน้านโยบายพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สอดคล้องแผน วทน. ชาติฉบับประวัติศาสตร์ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งประเทศฝรั่งเศสเร่งพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรเพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศไทย พร้อมเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา มุ่งเป้าขยับภาคการผลิตสู่ยุคนวัตกรรมนำธุรกิจ
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding:MoU) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเกรอโนเบิล (Grenoble Institute of Technology: G-INP) เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านกำลังคนวิศวกรรมศาสตร์ให้กับทั้งสองประเทศ
“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเกรอโนเบิลในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่บุคลากรทั้งสองประเทศจะได้ร่วมงานกันในโครงการวิจัยต่าง ๆ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งนำไปสู่นวัตกรรมใหม่ โดยขณะนี้ สวทน.กำลังดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายและแผน วทน.แห่งชาติฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้ วทน. เป็นแกนหลักในการนำประเทศไปสู่สังคมอยู่ดีมีสุขสามารถก้าวข้ามผ่านการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง (Middle-income trap) ซึ่งการจะก้าวข้าวกับดักนี้ไปได้ จะต้องสร้างกลไกให้ประเทศดำเนินไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge based society) ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรมีความจำเป็นมากต่อการพัฒนาประเทศ” ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน. กล่าว
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ.2552 โดยมีสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) รองรับในการทำงานสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)มีพันธกิจหลักในการประสานงานระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคการผลิต ทำงานตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตที่กำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีความชำนาญด้าน วทน. สาขาเร่งด่วนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับมาตรฐาน
“สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเข้าสู่ประชามคมอาเซียน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อประเทศ ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศประสบปัญญาอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อสังเกตประการหนึ่งว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติเป็นอย่างมาก เกิดการหวั่นวิตกถึงผลกระทบอย่างมหาศาลหากประเทศเจ้าของเทคโนโลยีย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้องเริ่มพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นหัวใจในการขับเคลื่อน โดย THAIST จะประสานงานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้เกิดการร่วมมือกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นของตนเอง เพื่อการพัฒนาประเทศจะเป็นไปอย่างยั่งยืน”
พันธกิจหลักของ THAIST คือการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนให้เกิดโจทย์วิจัยที่มาจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้งานวิจัยที่เกิดขึ้นตอบสนองความต้องการให้กับภาคการผลิตโดยแท้จริง รวมทั้งเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยวิจัยต่างประเทศเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาที่จะเป็นต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ปัจจุบัน THAIST ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายในประเทศไทย กำลังดำเนินการจัดตั้งเครือข่ายเชี่ยวชาญในยุทธศาสตร์หลัก 5 สาขาได้แก่ เครือข่ายเชี่ยวชาญด้านการออกแบบเพื่อการผลิตและนวัตกรรม ระบบขนส่งทางราง อุตสาหกรรมยางล้อ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์
“ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเกรอโนเบิลในครั้งนี้ นอกจากประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในเชิงวิชาการ เช่น การผลิตผลงานวิจัยร่วม และการแลกเปลี่ยนบุคลากรแล้ว เรายังสามารถเชื่อมโยงการทำงานให้หน่วยงานเครือข่ายในประเทศไทย ร่วมทำงานกับหน่วยงานพันธมิตรของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วภูมิภาคยุโรป” ดร.พิเชฐกล่าว
ศาสตราจารย์พอล ชาค์เกต์ อธิการบดี G-INP กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป กำลังประสบปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจ ขณะนี้แต่ละประเทศต้องเร่งเดินหน้าเพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อันเป็นฐานสำคัญที่ทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้ และลดการนำเข้าโดยเฉพาะการนำเข้าเทคโนโลยี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี ประเทศฝรั่งเศสได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในข้อนี้ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด รัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้จะทำให้ประเทศฝรั่งเศสสามารถรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตตามความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปได้ทุกสมัย ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจยุโรปจึงส่งผลกระทบประเทศฝรั่งเศสเพียงเล็กน้อยเท่านั้น”
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเกรอโนเบิลจัดตั้งมากว่า 100 ปี เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลประเทศฝรั่งเศสและได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านวิศวกรรมศาสตร์อันดับต้นของประเทศ ปัจจุบันมีคณาจารย์จำนวน 750 ท่าน นักศึกษาทั้งหมดจำนวน 5,440 คน มีจำนวนนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกที่จบการศึกษาในปี 2554 จำนวน 1,400 คน มีงบประมาณที่มาจากการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางจำนวน 146 ล้านยูโร (ประมาณ 6,059 ล้านบาท) ต่อปี เน้นการเรียนการสอนที่ให้มีการวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริงตรงตามความต้องการของภาคการผลิตและบริการ
“อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเกรอโนเบิล กำลังต้องการรับนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มีคุณภาพจำนวนมาก จากความได้เปรียบด้านสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้กับภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ของประเทศนี่เอง ทำให้นักศึกษาของเราได้เข้าไปฝึกงาน หรือทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชนจนได้รับข้อเสนอให้ทำงานแบบเต็มเวลาตั้งแต่จบปริญญาโท ดังนั้นการสรรหาบุคลากรคุณภาพเข้าเรียนระดับปริญญาเอกจึงหาได้ยากขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมามีนักศึกษาต่างชาติจำนวนหนึ่งเดินทางมาเรียนระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมีนักศึกษาไทยรวมอยู่ด้วย ขณะนี้มีนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกประมาณ 45 คน โดยเราได้เสียงชื่นชมจากอาจารย์ที่ปรึกษาถึงคุณภาพงาน และศักยภาพของนักเรียนไทยอยู่เสมอ จึงถือเป็นโอกาสดี ที่จะได้ร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ THAIST เพื่อให้การแลกเปลี่ยนบุคลากรวิจัยของสองประเทศเป็นไปอย่างสะดวก