8 มีนาคม วันสตรีสากล:สตรีเก่งที่เป็นศิลปินแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Monday March 8, 2004 12:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--สวช.
วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เป็นวันที่ระลึกถึงความเป็นมาของการต่อสู้อย่างยาวนานของสตรีที่จะให้ได้มาซึ่งสิทธิความเสมอภาค ความยุติธรรม สันติภาพ และการพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันสังคมส่วนใหญ่ในหลายประเทศก็ได้รับรองสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรี ทำให้ผู้หญิงได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถจนเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง สำหรับประเทศไทยเรา ผู้หญิงก็มีโอกาสทำงานและดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน ผู้อำนวยการ อธิบดี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี หรือแม้แต่เป็นส.ส. ส.ว. ผู้หญิงก็สามารถเป็นได้และทำงานได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย
นอกเหนือไปจากเรื่องการบ้านการเมืองแล้ว ในด้านงานศิลปะเราก็มีผู้หญิงที่เก่งในด้านนี้ไม่น้อย ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัวอย่างศิลปินสตรีบางท่านที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ จากคณะกรรมการวัฒธรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒธรรม ในปัจจุบันเรามีศิลปินแห่งชาติรวม ๑๑๕ คน ในจำนวนนี้เป็นศิลปินสตรีอยู่ ๓๙ คน แบ่งเป็น ๔ สาขา ได้แก่วรรณศิลป์ ๕ คน สาขาทัศนศิลป์ ๒ คน สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ๑ คน และสาขาศิลปะการแสดง ๓๑ คน
สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นางกัณหา เคียงศิริ หรือก.สุรางคนางค์(ถึงแก่กรรมแล้ว) นางสุกัญญา ชลศึกษ์ หรือกฤษณา อโศกสิน นางประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา(อุชเชนี) ม.ล.ศรีฟ้า ลดาวัลย์ และนางสุภา สิริสิงหหรือโบตั๋นแต่ละท่านต่างก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ผลงานเขียนของท่านเหล่านี้ที่นอกจากสะท้อนให้เห็นปัญหาสังคม ให้ความข้อคิด หลักธรรม ในการดำเนินชีวิต และแฝงด้วยความรู้ในด้านต่างๆที่ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชน เยาวชน คนอ่านแล้ว หลายๆ เรื่องยังใช้ภาษาที่งดงามเป็นตัวอย่างในการใช้ภาษาไทยอีกด้วย
สาขาทัศนศิลป์ มี ๒ คนคือ นางแสงดา บัณสิทธิ์ ด้านการทอผ้า และนางพยอม ลีนะวัฒน์ (ศิลปะงานผ้า) ทั้งสองท่านต่างก็มีชื่อเสียงในเรื่องความเชี่ยวชาญด้านผ้าของไทย อย่างนางแสงดา บัณสิทธิ์ ท่านเก่งมากในเรื่องการทอผ้าและย้อมผ้าด้วยสมุนไพรล้วน ๆ ไม่มีสารเคมีเจือปน สามารถประดิษฐ์คิดลวดลายผ้าได้อย่างล้ำเลิศ ยากจะหาผู้ใดเทียบ กล่าวกันว่าผ้าหนึ่งหมื่นพับของท่านก็มีถึงหนึ่งหมื่นลาย ท่านเป็นที่รู้จักดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ แม้ปัจจุบันท่านจะถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ทายาทของท่านก็ยังดำเนินรอยตามท่านอยู่ ส่วนนางพยอม ลีนะวัฒน์ นั้นท่านก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความเลิศในการทอผ้ายกและทำผ้ามัดหมี่ เป็นผู้ที่สามารถเอาลวดลายแบบประเพณีอีสานมาปรับปรุงให้เหมาะกับยุคปัจจุบันโดยยังรักษาของเดิมไว้ได้ ผลงานของท่านถือเป็นการอนุรักษ์ศิลปะงานผ้าแบบประเพณีที่ประณีตและสวยงานเป็นพิเศษ จนได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ นอกจากนี้ท่านยังได้เผยแพร่ความรู้แก่อนุชนรุ่นหลังทั้งที่ต้องการศึกษาและฝึกฝนศิลปะในงานผ้าเป็นอาชีพอีกด้วย
สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม มี ๑ คนคือนางสาววนิดา พึ่งสุนทร ท่านเป็นทั้งอาจารย์และสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมด้านประเพณีเป็นอย่างมาก มีผลงานสร้างสรรค์มากมายล้วนเป็นที่ยอมรับ ในเอกลักษณ์อันโดดเด่นและมีคุณค่า ท่านสามารถพัฒนาผลงานโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานจนมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ปัจจุบันแม้เกษียณแล้วก็ยังเป็นอาจารย์ถ่ายทอดความรู้ด้านสถาปัตยกรรมแก่ศิษย์และยังสร้างผลงานออกแบบอย่างสมำเสมอ
สาขาศิลปะการแสดง สตรีที่เป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาศิลปะการแสดงมีอยู่ถึง ๓๑ คน ซึ่งแต่ละท่านก็จะมีความรู้ ความสามารถเฉพาะตัวอย่างน่าทึ่ง แม้หลายท่านจะถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ผลงานและชื่อเสียงของท่านก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงท่านที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อเป็นแบบอย่าง สัก ๒-๓ ท่าน ได้แก่
นางสุดจิตต์ อนันตกุล (ดุริยประณีต) ท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ทางด้านดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง สามารถเล่นดนตรีไทยได้รอบวงตั้งแต่อายุเพียง ๘ ขวบ เป็นผู้มีน้ำเสียงในการขับร้องเพลงไทยที่แจ่มใสและไพเราะ และยังมีความสามารถในด้านต่างๆ อีกเช่น เป็นครูสอนและขับร้องและดนตรีไทยแก่สถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดการรายการเพลงไทย ฯลฯ และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับวงการดนตรีไทยอย่างมากมายที่จะเป็นสมบัติสืบต่อไปยังอนุชนรุ่นหลัง
นางประยูร ยมเยี่ยม เป็นศิลปินที่มีความสามารถโดดเด่นมากด้านศิลปะพื้นบ้าน โดยเฉพาะความชำนาญด้านลำตัด นอกจากนี้ยังเก่งเรื่องเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ อีก เช่นเพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ฯลฯ เป็นผู้ที่มีความสามารถรอบตัวและมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้ยืนยาวมาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ ทั้งยังได้ใช้ลำตัดในการประชาสัมพันธ์ช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ เคยไปแสดงต่างประเทศหลายครั้ง สามารถด้นกลอนสดและแต่งคำร้องได้อย่างคมคายเหมาะสมกับสถานการณ์ และยังเป็นครูถ่ายทอดศิลปะวิชาแก่บุคคลและสถาบันต่าง ๆ อยู่เสมอ
นางจุรี โอศิริ เป็นทั้งนักแสดงและนักพากย์ที่มีความสามารถรอบตัว เป็นผู้มีศิลปะการใช้เสียงพากย์ได้ทุกบทบาท และสมจริงเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ชมทั้งในบทนางเอก นางรอง ผู้ร้าย และย่า ยายพี่ป้าน้าอา เคยได้รับพระราชทานตุ๊กตาทองจากการพากย์ยอดเยี่ยม และได้รับตุ๊กตาทองจาการแสดงภาพยนตร์อีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากทั้งสามท่านที่กล่าวมาแล้ว เรายังมีศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดงในด้านต่างๆ อีกหลายท่าน เช่น นางชูศรี สกุลแก้วหรือครูชื้น ที่เก่งเรื่องหุ่นกระบอก นางเจริญใจ สุนทรวาทินด้านคีตศิลป์ นางบัวผัน จันทร์ศรีด้านเพลงพื้นบ้าน นางผ่องศรี วรนุชด้านนักร้องลูกทุ่ง นางสุวรรณี ชลานุเคราะห์และส่องชาติ ชื่นศิริ ด้านละครรำ นางฉวีวรรณ พันธุ ด้านหมอลำ นางขวัญจิต ศรีประจันต์ ด้านเพลงอีแซว คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช ด้านดนตรีสากล นางสวลี ผกาพันธุ์ และนางรวงทอง ทองลั่นธมด้านขับร้องเพลงไทยสากล เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าศิลปินแห่งชาติที่เป็นสตรีแต่ละท่าน ต่างก็อุทิศตนทำงานตามความรู้ ความสามารถ และทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติด้านศิลปะได้อย่างมากมาย อีกทั้งยังช่วยสืบทอดงานวัฒนธรรมอันเป็นสมบัติของชาติให้เป็นมรดกตกทอดต่อไปยังลูกหลานได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ถ. รัชดาภิเษก เขต. ห้วยขวาง กทม. 10320
โทร. 0 2247-0028 ต่อ 2204/2205 --จบ--
-ชป/ชพ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ