หนุนผู้ประกอบการSMEs รู้/ใช้ เครื่องเคลือบในสุญญากาศอย่างถูกวิธี

ข่าวเทคโนโลยี Monday March 8, 2004 14:36 —ThaiPR.net

หนุนผู้ประกอบการเรียนรู้การใช้งาน "เครื่องเคลือบในสุญญากาศ" เน้นปฏิบัติได้จริง พร้อมเตรียมสร้างคนรองรับเทคโนโลยีชุบเคลือบ เพื่อรองรับการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไทย
"เครื่องเคลือบในสุญญากาศ" เป็นเครื่องมือช่วยปรับปรุงผิววัสดุให้มีความคงทน ถาวรและสวยงาม ปัจจุบันมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนไอซี การเคลือบแข็งเครื่องมือช่าง เลนส์แว่นตา กระจกเงาสะท้อนแสง รวมถึงอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป เช่น การเคลือบด้านในของซองบะหมี่ ห่อขนม แต่ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ค่อนข้างน้อย ที่สำคัญบุคลากรที่มีความรู้สำหรับการใช้งานในเครื่องมือชนิดนี้ก็มีอยู่ค่อนข้างจำกัด
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จีงสนับสนุนให้ ผศ.นิรันดร์ วิทิตอนันต์และคณะ ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา ทำวิจัยเรื่อง การพัฒนาต้นแบบเครื่องเคลือบในสุญญากาศเพื่อการศึกษาและฝึกอบรม
ผศ.นิรันดร์ กล่าวว่า ต้นแบบเครื่องเคลือบในสุญญากาศที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้เทคนิคการเคลือบด้วยวิธีระเหยสาร โดยลักษณะของเครื่องเคลือบที่สร้างขึ้นจะมีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน คือ ภาชนะสุญญากาศ ทำจากสเตนเลสทรงกระบอก มีหน้าแปลนสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ส่วนต่อมาเป็นระบบเครื่องสูบสุญญากาศประกอบด้วยเครื่องสูบ 2 ชนิดคือ เครื่องสูบกลโรตารี และ เครื่องสูบแบบแพร่ไอ ส่วนที่สามคือ ส่วนการเคลือบ ทำหน้าที่ให้ความร้อนสำหรับระเหยสารเคลือบมีลักษณะเป็นลวดต้านทาน ประกอบด้วย ลวดต้านทาน ขั้วไฟฟ้า แหล่งจ่ายไฟฟ้า และที่วางชิ้นงาน ส่วนประกอบสุดท้ายเป็นชุดควบคุมการทำงานของเครื่องเคลือบ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานทั้งหมดของระบบ
ผศ.นิรันดร์ กล่าวว่า งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อออกแบบและสร้างต้นแบบเครื่องเคลือบในสุญญากาศสำหรับใช้ในการศึกษาและฝึกอบรม ซึ่งจะครอบคลุมถึงการออกแบบและสร้างชิ้นส่วน อุปกรณ์พื้นฐานของระบบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในเทคโนโลยีการเคลือบสุญญากาศ ทั้งนี้เป้าหมายหลักสำคัญอีกประการหนึ่งของโครงการวิจัยนี้คือ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านนี้โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลือบของประเทศไทย ซึ่งผลของงานวิจัยนี้นอกจากจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือที่มีราคาสูงจากต่างประเทศแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบบพึ่งตนเองซึ่งจะทำให้เราเป็นเจ้าของเทคโนโลยีในที่สุด
ผศ.นิรันดร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีโรงงานหลายแห่งที่นำเข้าเครื่องเคลือบในสุญญากาศจากต่างประเทศมาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งบริษัทผู้ขายเครื่องเคลือบก็จะจัดอบรมให้ความรู้ในการใช้งานเครื่องเคลือบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีปัญหาทั้งในแง่ของการใช้งานเครื่อง ไปจนถึงการซ่อมบำรุง ทั้งนี้เป็นเรื่องปกติของเครื่องมือที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีราคาแพง หากผู้ใช้งานไม่มีความรู้หรือใช้งานไม่ถูกต้องตามขั้นตอนก็อาจทำให้เครื่องมือนั้นมีปัญหาได้ หากพิจารณาในส่วนของสถาบันการศึกษาพบว่าในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการนำเข้าเครื่องเคลือบชนิดนี้ มาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับราคาของเครื่องทำให้มีบางสถาบันเท่านั้นที่สามารถจัดซื้อได้
อกจากการออกแบบและสร้างต้นแบบเครื่องเคลือบแล้ว คณะผู้วิจัยยังได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการใช้เครื่องเคลือบในสุญญากาศของโครงการดังกล่าวนี้ โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22-23 มกราคม 2547 ซึ่งมีผู้สนใจเข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 57 คน ส่วนใหญ่กว่า 50% ของผู้เข้ารับการอบรมเป็นผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องเคลือบในโรงงานอุตสาหกรรม มีบางส่วนประมาณ 30%เป็นเจ้าของธุรกิจที่สนใจจะนำเทคนิคการเคลือบนี้มาใช้งาน และอีกส่วนหนึ่งประมาณเกือบ20%เป็นอาจารย์และนักศึกษาบัณฑิตศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งนี้โดยภาพรวมผลผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่พอใจกับการอบรมครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากจะเป็นการบรรยายภาคทฤษฎีแล้วยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติงานและทดลองใช้เครื่องเคลือบด้วยตนเองอีกด้วย
ผศ.นิรันดร์ กล่าวอีกว่า ผลของโครงการนี้นอกจากจะทำให้ได้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเคลือบในสุญญากาศ ทั้งหลักการ ทฤษฏี ตลอดรวมถึงได้ต้นแบบชิ้นส่วน อุปกรณ์ต่างๆ ของเครื่องเคลือบในสุญญากาศทั้งระบบ ซึ่งนอกจากจะช่วยทดแทนการนำเข้าแล้วยังเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ขึ้นใช้เองในประเทศ ที่สำคัญยังเป็นการสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานเกี่ยวกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการทำวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ประชาสัมพันธ์ สกว.
--สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ