กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--บลจ.กสิกรไทย
บลจ. กสิกรไทย แจงกองทุนปลอดบอนด์ 9 ประเทศยุโรปถูกหั่นเกรดมองตลาดหุ้น-ทองคำกระทบเพียงเล็กน้อย ด้านน้ำมันยังจ่อคิวผันผวนเชื่อยุโรปเร่งคลอดมาตรการแก้ปัญหาหนี้เร็วๆนี้
S&P หั่นอันดับเครดิต EU ส่งท้ายศุกร์ 13 บลจ. กสิกรไทย คาดอานิสงส์จากการลดอันดับเครดิตกดดัน EU เร่งคลอดมาตรการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปอย่างเป็นรูปธรรม แจงทุกกองทุนตราสารหนี้ปลอดบอนด์ 9 ประเทศเกรดร่วง พร้อมเผยระยะสั้นป่วนตลาดหุ้น-ทองคำไม่มากนัก ส่วนน้ำมันยังมีโอกาสผันผวน
นายประเสริฐ ขนบธรรมชัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เปิดเผยว่า จากการที่ S&P สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของ 9 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปลงเมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่า มาตรการจากการบรรลุข้อตกลงของผู้นำสหภาพยุโรปเมื่อเดือนธันวาคม 2554 ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรป ส่งผลให้ประเทศผู้นำเศรษฐกิจอย่างฝรั่งเศส ซึ่งถูกลดอันดับลงจาก AAA เหลือ AA อิตาลีปรับลดจาก A ลงมาอยู่ที่ BBB+ และโปรตุเกส ปรับลดลงมาอยู่ที่ BB+ ซึ่งต่ำกว่าระดับที่สามารถเข้าไปลงทุนได้นั้น การลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศของ บลจ. กสิกรไทยแต่อย่างใด เนื่องจากกองทุนของบริษัทไม่มีการลงทุนพันธบัตรของประเทศที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือโดยตรง
“ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศของ บลจ.กสิกรไทย ไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวดังกล่าว ประการหนึ่งเนื่องจากกองทุนตราสารหนี้ประเภทกำหนดอายุโครงการ หรือ Term Fund เป็นกองทุนที่มีกำหนดอายุการจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนที่แน่นอนไว้อยู่แล้ว นอกจากนี้ บลจ. กสิกรไทยยังไม่มีกองทุนใดที่ถือพันธบัตรของประเทศที่ถูกปรับลดอันดับโดยตรง มีเพียงตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารในประเทศฝรั่งเศสซึ่งเราถืออยู่เพียงเล็กน้อย ขณะเดียวกันการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีคู่สัญญาเป็นธนาคารฝรั่งเศสก็มีสัดส่วนเพียง 10% ซึ่งเมื่อพิจารณาสถานะทางการเงินของธนาคารในฝรั่งเศสแล้ว เราเชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินในฝรั่งเศสยังคงมีสถานะทางการเงินที่ดี มีสภาพคล่องมากเพียงพอต่อการชำระหนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนพันธบัตรของประเทศโปรตุเกส ซึ่งขณะนี้อันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่จะเข้าไปลงทุนได้นั้น บลจ.กสิกรไทยไม่มีการลงทุนอยู่เลย ผู้ลงทุนที่กังวลใจว่าโอกาสรับผลตอบแทนของกองทุนอาจจะลดลงเพราะผลกระทบจากเหตุดังกล่าว จึงสามารถคลายความกังวลลงได้ ” นายประเสริฐกล่าว
ด้านผลกระทบจากการลดอันดับความน่าเชื่อถือกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศสต่อแนวโน้มการลงทุนในกองทุนรวมอื่นๆ รวมทั้งตลาดทุน นายประเสริฐให้ความเห็นว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของ ผู้ลงทุนทั่วโลกและยังส่งผลกระทบกับกองทุนการเงินเพื่อเสถียรภาพยุโรป หรือ EFSF ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหนี้ยุโรป ให้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงมาเช่นเดียวกัน เนื่องจากกองทุนดังกล่าวได้รับการค้ำประกันวงเงินจากรัฐบาลฝรั่งเศสอยู่กว่า 1.6 แสนล้านยูโร นับเป็นมูลค่าถึงร้อยละ 20 ของกองทุน ซึ่งอาจก่อความกังวลต่อเนื่องไปถึงผลกระทบที่อาจลุกลามไปยังภูมิภาคอื่นๆ เหมือนเมื่อครั้งสหรัฐฯ ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนขายหุ้นซึ่งเป็นสินทรัพย์เสี่ยงออกมา ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในระยะสั้นที่ปรากฏจ่อตลาดไม่ได้รุนแรงมากอย่างที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายประเมินไว้ในเบื้องต้น
“ในแง่ของผลกระทบระยะสั้นต่อตลาดหุ้นที่ปรากฎไปเมื่อช่วงคืนวันศุกร์ต่อเนื่องถึงวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น บลจ. กสิกรไทยมองว่า ไม่ได้สร้างผันผวนอย่างรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ S&P ได้ประกาศเตือนล่วงหน้าไว้ตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาและตลาดได้มีการรับรู้ข่าวนี้ไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ ราคาหุ้นยุโรปเมื่อคืนวันจันทร์ก็ปรับตัวดีขึ้นรับข่าวดีที่ฝรั่งเศสสามารถออกพันธบัตรด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงแม้จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้ แต่ผลกระทบในระยะยาวต่อตลาดหุ้นทั่วโลก เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติอาจจะมีการดึงเม็ดเงินกลับประเทศของตนจนกว่า EU จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปที่ชัดเจนออกมาอีกครั้ง สำหรับกองทุนหุ้นต่างประเทศของ บลจ. กสิกรไทย ที่อาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว คือ กองทุนเปิดเค โกลบอลอิควิตี้ (K-GLOBE) ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกองทุนนี้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่ม EU และอังกฤษอยู่เพียง 12% และยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้แบบ underweight โดยให้น้ำหนักต่ำกว่าดัชนี MSCI World All Country Index ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานของกองทุนอยู่ถึง 13% อย่างต่อเนื่อง และผู้จัดการกองทุนยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนน้ำหนักในการลงทุนตามความเหมาะสมต่อไป” นายประเสริฐกล่าว
ส่วนผลกระทบต่อราคาทองคำและน้ำมัน นายประเสริฐเปิดเผยว่า ในช่วงนี้ทองคำยังได้รับอานิสงส์จากเทศกาลตรุษจีน โดยใปริมาณการซื้อขายที่มีค่อนข้างมากในตลาดทองคำของจีน ยังทำให้สามารถประคองราคาอยู่ได้ ประกอบกับการที่ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ปิดทำการในวันจันทร์ที่ 16 มกราคม 2555 จึงน่าจะเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้ความผันผวนที่เกิดขึ้นไม่รุนแรงนักในช่วงสั้น สำหรับราคาน้ำมัน แม้จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากความต้องการน้ำมันในยุโรปที่มีแนวโน้มลดลง แต่เชื่อว่าสถานการณ์ความตึงเครียดในคาบสมุทรเปอร์เซียที่อิหร่านขู่ปิดช่องแคบฮอร์มุชที่ใช้ขนส่งน้ำมันเพื่อแสดงท่าทีต่อต้านกลุ่มประเทศตะวันตกที่คว่ำบาตร จะยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยพยุงราคาน้ำมันไม่ให้ปรับตัวลดลงรุนแรงนัก
“การปรับลดอันดับเครดิต 9 ประเทศในกลุ่ม EU และ EFSF ครั้งนี้ แม้จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนพอสมควร แต่หากมองอีกแง่หนึ่ง นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่กดดันให้กลุ่ม EU จริงจังกับการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา มีเพียงการประกาศมาตรการออกมา แต่ก็ยังไม่ได้มีการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมสักเท่าใดนัก ซึ่งยังคงต้องจับตากันต่อไป” นายประเสริฐกล่าวในที่สุด
การลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) โดยสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ หรือ S&P สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 13 มกราคม ที่ผ่านมา โดยปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือประเทศในกลุ่มดังกล่าวลง 9 ประเทศจากทั้งหมด 16 ประเทศ ประกอบด้วยฝรั่งเศสและออสเตรีย ปรับลดจาก AAA มาที่ AA+ สเปนและสโลเวเนียปรับลดจาก AA- มาที่ A สโลวักปรับลงจาก A+ เป็น A มอลต้าปรับลดจาก A มาที่ A- อิตาลีปรับจาก A ลงมาที่ BBB+ ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับประเทศไทย ส่วนด้านโปรตุเกสและไซปรัสถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ ไปอยู่ที่ BB+ กลายเป็นประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่จะสามารถลงทุนได้
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน