AREAแถลงฉบับที่ 8/2555: ลดทุจริตในวงการอสังหาริมทรัพย์ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

ข่าวอสังหา Tuesday January 17, 2012 16:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ตัวเลขจำนวนโครงการ หน่วยและมูลค่าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดใหม่เป็นดัชนีที่สำคัญที่สุดในการวางแผนด้านผังเมืองและที่อยู่อาศัย ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เป็นหน่วยงานเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ทำการสำรวจข้อมูลโครงการเปิดใหม่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างรอบรู้ เมื่อวันที่ 11-12 มกราคม 2555 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เข้าร่วมประชุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนานาชาติครั้งที่ 2 เรื่อง the Second Conference on Evidence-Based Anti-Corruption Policies ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการ ปปช. ร่วมกับธนาคารโลก ณ โรงแรมเชอราตันแกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากประเทศต่าง ๆ มาให้ความรู้พร้อมกับการนำเสนอของนิวิจัยของไทย ศาสตราจารย์แมททิว ซี สตีเฟนสัน แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่าการมีอำนาจเบ็ดเสร็จสมบูรณ์แบบเผด็จการ ย่อมก่อให้เกิดการทุจริตแบบเบ็ดเสร็จ (Absolute Power, Absolute Corruption) ดังนั้นในประเทศต่าง ๆ จึงควรมีบรรยากาศประชาธิปไตย ความเป็นประชาธิปไตยนั้นจำเป็นสำหรับทุกฝ่าย เช่น สมาคมทางด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือสมาคมวิชาชีพ จำเป็นต้องมีความเป็นประชาธิปไตยจากทุกภาคส่วนในวงการหรือวิชาชีพ ไม่เช่นนั้น ก็ขาดการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่ ที่สำคัญที่สุดก็คือ การก่อให้เกิดการทุจริต จะสังเกตได้ว่าสมาคมวิชาชีพที่มีกรรมการสมาคมเป็นกรรมการกันโดยแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะมีปัญหาข้อครหาของการทุจริต เพราะการอยู่นาน ย่อมหมายถึงการพบช่องทางการทุจริต นอกจากนั้นยังไม่เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพอีกด้วย ในทางตรงกันข้ามซึ่งถือเป็นความจริงอีกแง่มุมหนึ่ง (Paradox) ก็คือ การกระจายอำนาจการตัดสินใจก็เป็นการกระจายการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Decentralize Power, Decentralize Corruption) ทั้งนี้ข้อสังเกตนี้นำเสนอโดย นายที อาร์ รักฮุนันดาน จากประเทศอินเดีย อย่างเช่นการให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสของการโกงกินให้กระจายวงกว้างออกไปแบบแบ่ง ๆ กันไป (Buffet Corruption) การขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ขออนุญาตจัดสรร ขอบ้านเลขที่ ขอเชื่อมทาง ขอต่อสาธารณูปโภค ฯลฯ กับหน่วยงานท้องถิ่น หรือราชการส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ในหลาย ๆ ประเทศต่างมีปัญหาการที่ต้องจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ ไม่เช่นนั้น โครงการต่าง ๆ ก็จะต้องล่าช้าออกไป ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่เจ้าของโครงการ หรือในบางกรณี ก็อาจทำให้โครงการประสบความล้มเหลวที่ไม่ได้รับอนุญาตได้ทันท่วงทีนั่นเอง ยิ่งในกรณีประเทศอินเดีย มีทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ตลอดจนองค์กรของหน่วยงานอิสระต่าง ๆ ยิ่งทำให้ต้องจ่ายสินบนหรือเงินใต้โต๊ะหลายที่หลายทาง โดยทั่วไปในวงการอสังหาริมทรัพย์ หรือวงการอื่นใดก็ตาม การทุจริตเกิดขึ้นได้หลายทางเช่น 1. การขออนุญาตซึ่งต้องติดต่อกับทางราชการหลายหน่วยงาน 2. การขอรับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่งอาจมีกรณีการจ่ายเงิน เพื่อซื้อความสะดวก 3. การทุจริตในวงการ หรือวงวิชาชีพ ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบ เสียเปรียบในการแข่งขัน 4. การทุจริตในการโฆษณา ซึ่งไม่เป็นความจริงต่อผู้บริโภคโดยผู้ให้บริการ หรือผู้ขายสินค้าอสังหาริมทรัพย์ โดยสรุปแล้ว การทุจริตในแวดวงต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นได้หากไม่มีการตรวจสอบที่โปร่งใส ทันท่วงที ต่อเนื่อง และมีการลงโทษที่สมควรแก่เหตุ หากสามารถลดหรือหยุดการทุจริตได้ ก็จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการหรือนักวิชาชีพลดลง ราคาสินค้าและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ก็จะลดลงเพราะไม่มีเงินทุจริตรวมอยู่ด้วยนั่นเอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ