แสตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเผยเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศ มีแนวโน้มสดใสกว่าในปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 17, 2012 18:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ทีมวิจัยตลาดทุนของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเอกชนโดยทีมวิจัยตลาดทุนของธนาคาร ข้อสรุปที่เป็นประเด็นสำคัญชี้ประเทศที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศ เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และไทย ยังมีแนวโน้มสดใสในปี 2555 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเอกชนซึ่งทำต่อเนื่องเป็นรายไตรมาส โดยการสอบถามความเห็นจากผู้บริหารจำนวน 529 คนจากบริษัทชั้นนำใน 7 ตลาดสำคัญในเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย เกาหลี อินโดนีเซีย และไทย ครอบคลุม 12 กลุ่มอุตสาหกรรม โดย 99% ของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นลูกค้าธนาคารฯ หรือพันธมิตรทางธุรกิจของทีมวิจัยตลาดทุน ผลการวิเคราะห์คำตอบที่ได้จากการสำรวจความเห็นครั้งนี้ ได้ข้อสรุปที่มีนัยยะที่สำคัญดังต่อไปนี้ - ภาคเอกชนเล็งตลาดการค้าที่จะยังคงความคึกคักในปี 2555 จะตกอยู่ในกลุ่มประเทศที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย และไทย และจะส่งผลให้ประเทศเหล่านี้มีการลงทุนที่เพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจ เช่นการปรับปรุงโรงงาน และเครื่องจักร ตลอดจนมีแผนการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่มีความอ่อนไหวต่อความผันผวนทางธุรกิจมากกว่า มีแนวโน้มจะลงทุนในเรื่องดังกล่าวน้อย 95% ของผู้ตอบแบบสอบถามในอินโดนีเซีย เชื่อมั่นว่าจะมียอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 10% ในปีนี้ ตามด้วยอินเดีย (80%) และประเทศไทย (65%) ตามลำดับ - นอกจากนี้ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า เงินหยวน จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันจีนเป็นประเทศหลักเในการนำเข้าเครื่องจักร และบริษัทผู้นำเข้าต่างก็ใช้สกุลเงินหยวนในการชำระเงิน เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินตราต่างประเทศ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีนั้น พบว่ากว่า 50% ของผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีในไต้หวัน ได้ใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมทางการค้าแล้ว - นอกจากนี้ แบบสำรวจยังสอบถามถึงสิ่งที่จะเป็นปัญหาท้าทายสำหรับภาคธุรกิจเอกชน ผลสำรวจเผยว่า 28% มีความกังวลในเรื่องการหดตัวของอุปสงค์ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (57%) และกลุ่มผู้จำหน่ายวัตถุดิบ (58%) ตามด้วยความกังวลเรื่องต้นทุนการผลิต (25%) เป็นอันดับ 2 และกฏระเบียบ (19%) อันดับ 3

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ