กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีน ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ การขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล และความสามารถในการรักษาโครงสร้างเงินทุนในระดับที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจน้ำตาลและกระแสเงินสดที่มาจากหลายธุรกิจทั้งจากธุรกิจน้ำตาลและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกและมาตรการ
ต่าง ๆ ที่มิอาจคาดการณ์ของทางการจีนได้ และแม้จะมีแผนการใช้เงินลงทุนจำนวนมากในช่วงปี 2555 ถึง 2557 แต่ก็คาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 55% ต่อไปในระยะปานกลาง
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของไทยโดยมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% ผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด โรงงานน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลในประเทศไทยมี 5 แห่ง โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 146,000 ตันอ้อยต่อวัน ในปีการผลิต 2553/2554 กลุ่มมิตรผลยังคงเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.87 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 19.3% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของโรงงานที่ระดับ 106.10 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 101.33 กก. ต่อตันอ้อย นอกจากนี้ กลุ่มมิตรผลยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านปริมาณอ้อยสูงสุดในสัดส่วน 18.5% ของปริมาณอ้อยทั้งประเทศ รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง (17.2%) กลุ่มไทยเอกลักษณ์ (12%) กลุ่มวังขนาย (7.7%) และกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (6.5%)
นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลในประเทศแล้ว บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนด้วย โดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.03 ล้านตันในปีการผลิต 2553/2554 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 9.80% ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ในมณฑลกวางสี ประเทศจีน ด้วยประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลที่ระดับ 124.21 กก. ต่อตันอ้อย รายได้รวมของกลุ่มมิตรผลในปีการผลิต 2553 (พฤศจิกายน 2552-ตุลาคม 2553) อยู่ที่ 55,060 ล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม (EBITDA) อยู่ที่ 11,686 ล้านบาท ราคาน้ำตาลในประเทศจีนที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมากส่งผลทำให้รายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนมีสัดส่วน 39.8% ของรายได้รวมของกลุ่ม และคิดเป็น 51.5% ของ EBITDA รวมของกลุ่ม
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทน้ำตาลมิตรผลยังขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตแผ่นไม้อัด และธุรกิจผลิตกระดาษ โดยปัจจุบันโรงงาน
เอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 690,000 ลิตรต่อวัน EBITDA ของธุรกิจเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 1,815 ล้านบาทในปีการผลิต 2552 เป็น 2,860 ล้านบาทในปีการผลิต 2553
ผลการดำเนินงานของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น โดยในปีการผลิต 2553 บริษัทมีรายได้รวม 55,060 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.4% จากปีการผลิต 2552 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาขายที่เพิ่มขึ้นของน้ำตาลและเอทานอล ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2554 รายได้ของบริษัทสูงถึง 57,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.4% จาก 44,592 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีการผลิต 2553 รายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาขายน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายดีขึ้นจาก 15.56% ในปีการผลิต 2552 เป็น 20% ในปีการผลิต 2553 อัตราส่วนในช่วง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2554 เท่ากับ 25.05% ใกล้เคียงกับ 25.23% ในช่วงเดียวกันของปีการผลิต 2553 กระแสเงินสดของบริษัทในช่วงปีการผลิต 2553 ถึง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2554 แข็งแกร่งขึ้น โดยมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 41.28% ในปีการผลิต 2553 จาก 21.60% ในปีการผลิต 2552 และเท่ากับ 37.15% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีการผลิต 2554 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 33.76% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงเดียวกันของปีการผลิต 2553 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเป็น 38.96% ในปีการผลิต 2553 จาก 50.85% ในปีการผลิต 2552 และ 55.71% ในปีการผลิต 2551
ปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ในปีการผลิต 2553/2554 ปริมาณผลผลิตอ้อยของไทยที่ 95 ล้านตันอ้อย ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกอ้อย ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกในเดือนมกราคม 2554 อยู่ในระดับสูงที่ 36.11 เซนต์/ปอนด์เนื่องจากผลผลิตที่ลดลงในประเทศออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม ระดับราคาได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 28 เซนต์/ปอนด์ในเดือนตุลาคม 2554 จากผลผลิตน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นของไทย ส่วนในประเทศจีนนั้น ราคาน้ำตาลมักเปลี่ยนแปลงไปตามอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ รวมทั้งตามการบริหารจัดการของรัฐบาลจีน โดยราคาน้ำตาลของจีนปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณ 5,000 หยวนต่อตันในปีการผลิต 2552/2553 เป็นประมาณ 7,400 หยวนต่อตันในเดือนกันยายน 2554 ทริสเรทติ้งกล่าว
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MPSC126A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A+ MPSC12OA: หุ้นกู้มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A+ MPSC135B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A+ MPSC136A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A+ MPSC136B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A+ MPSC13DB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A+ MPSC145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ A+ MPSC146A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ A+ MPSC155B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A+ MPSC156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A+ MPSC165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 คงเดิมที่ A+ MPSC175A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 คงเดิมที่ A+ MPSC185A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 คงเดิมที่ A+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)