กรุงเทพ--18 ม.ค.--m and m
อพท. สนับสนุนท่องเที่ยวจิตอาสาช่วยฟื้นการท่องเที่ยวหลังมหาอุทุกภัย พร้อมแนะแหล่งท่องเที่ยวทางเลือก เร่งสร้างและกระจายรายได้ด้านการท่องเที่ยวขณะแหล่งท่องเที่ยวหลักกำลังบูรณะฟื้นฟู รวมทั้งควรจัดตั้งศูนย์รายงานสถานการณ์เพื่อการท่องเที่ยวฟื้นฟูภายในท้องถิ่นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นได้
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการและผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ได้คลี่คลายลงแล้ว แต่ผลกระทบที่ส่งถึงการท่องเที่ยวโดยตรงยังต้องเร่งหาทางแก้ไขโดยด่วน เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงไปแล้วประมาณร้อยละ ๕๐ ตั้งแต่เดือนตุลาคม และจะยังส่งผลยาวไปถึงต้นปีหน้าอย่างแน่นอน เนื่องจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ได้รับการเตือนจากประเทศต่างๆ เกิดความไม่แน่ใจและเปลี่ยนแผนการเดินทางไปยังประเทศอื่น แต่อย่างไรก็ตามแผนการฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นก็ยังต้องดำเนินการต่อไป เพื่อใช้เป็นบทเรียนรองรับหากเกิดภัยพิบัติเช่นนี้ในปีต่อๆ ไป ทั้งนี้ อพท. เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจัดตั้ง “ศูนย์รายงานสถานการณ์เพื่อการท่องเที่ยวฟื้นฟู”ทันทีที่ภัยพิบัติได้ผ่านพ้นไปในพื้นที่ของตน โดยศูนย์ดังกล่าวจะคอยรวบรวมและรายงานข้อเท็จจริงของแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับผลกระทบด้วย โดยข้อมูลนี้จะต้องเป็นข้อมูลจากพื้นที่โดยตรง เพราะจะสามารถรายงานผลได้อย่างรวดเร็วและเป็นปัจจุบันที่สุด อีกทั้ง ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในความปลอดภัย ทั้งด้านการเดินทาง การพักอาศัย และกิจกรรมท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมเช่นกัน มีถนนถูกตัดขาด ๓ สาย แต่ตัวโบราณสถานซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ทั้งอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และศรีสัชนาลัย โดยตั้งแต่เดือนตุลาคมน้ำได้แห้งไปหมดแล้ว ถนนและสะพานได้รับการซ่อมแซมให้พร้อมเดินทางสัญจรได้ แหล่งท่องเที่ยวก็มีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ แต่กลับไม่มีการรายงานสถานการณ์ดังกล่าวออกไปให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ”
นอกจากนี้ พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค เห็นว่าการจัดตั้งกลุ่มทางสังคม เพื่อร่วมกันบูรณะ ซ่อมแซมกวาดและล้างทำความสะอาดบ้านเรือนและแหล่งท่องเที่ยวภายหลังน้ำลด เป็นกลุ่มที่มีพลังในเชิงการสื่อสาร ทั้งเป็นประเด็นข่าวด้านบวกที่น่าสนใจ อีกทั้งการรวมกลุ่มจะถูกชักชวนบอกต่อในกลุ่มเพื่อน ผ่านโลกของ Social Media ซึ่งจะยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวที่ยังไม่ได้ตัดสินใจยกเลิกทัวร์เกิดความมั่นใจว่าแหล่งท่องเที่ยวนั้นได้ผ่านพ้นวิกฤตและใกล้จะมีความพร้อมที่จะเดินทางท่องเที่ยวได้แล้ว แม้ว่าพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ไม่ได้รับภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ มีเพียงพื้นที่ดำเนินงานท่องเที่ยวชุมชนอย่างเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม อพท. เองก็ได้จัดเตรียมแผนการชักชวนกลุ่มอาสาสมัครผ่าน Social Media โดยเฉพาะ facebook ของ อพท. ที่ชื่อ DASTATHAILAND เพื่อรวมกลุ่มกันไปทำความสะอาดแหล่งท่องเที่ยวร่วมกับชาวบ้านทันทีที่น้ำลด เพื่อเร่งให้สามารถกลับมาเปิดการท่องเที่ยวได้โดยเร็ว โดยกลุ่มเป้าหมายที่ อพท. จะชวนให้ร่วมขบวนด้วยคือ กลุ่มนักศึกษาที่มีการรวมตัวเป็นสมาคมหรือชมรมอยู่แล้ว อีกทั้งกลุ่มนี้มีทั้งพลังกายและพลังใจเต็มเปี่ยม นอกจากนี้ อพท. ยังได้เตรียมแผนการประชาสัมพันธ์เปิดแหล่งท่องเที่ยวที่ผ่านพ้นวิกฤตการณ์น้ำท่วมไปแล้ว ในรูปแบบแฟลชม็อบ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่ไม่เป็นทางการนัก แต่จะสามารถสร้างกระแสการประชาสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็ว โดยขอให้ผู้สนใจติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเว็บไซต์ www.dasta.or.th และ www.facebook/DASTATHAILAND
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค เสนอว่า“อีกข้อเสนอหนึ่งที่จะช่วยเร่งสร้างและกระจายรายได้ด้านการท่องเที่ยว ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวหลักกำลังบูรณะฟื้นฟู คือ การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางเลือก เพื่อทดแทนแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถให้บริการได้ร้อยเปอร์เซนต์ อย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดย อพท. เห็นว่าจังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยอดเยี่ยมด้านโบราณสถาน ทั้งยังเป็นเมืองมรดกโลกเช่นเดียวกับอยุธยา นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเที่ยวชมโบราณสถาน ก็ย่อมจะชื่นชอบบรรยากาศในเมืองสุโขทัยและกำแพงเพชรเช่นกัน เพราะมีอุทยานประวัติศาสตร์ถึง ๓ แห่งด้วยกัน ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยเหมาะกับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัย อย่างเช่น กิจกรรมปั่นจักรยานเที่ยวชมรอบๆ โบราณสถาน การนั่งรถรางนำชมโบราณสถาน หรือจะนั่งสามล้อเครื่องก็ได้ โดยสามารถแวะพักเฉพาะจุดที่สนใจได้ ส่วนในยามค่ำคืน ก็จะมีกิจกรรมแสงสีเสียง เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกรุงสุโขทัย นอกจากนี้ บรรยากาศในการท่องเที่ยวของทั้งสามพื้นที่นี้เหมาะกับการท่องเที่ยวแบบละเลียด หรือ Slow Travel เป็นอย่างมาก เพราะเป็นเมืองที่เงียบสงบ ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่น่าค้นหา”
“แนวทางที่เสนอทั้ง ๓ ข้อนั้น เป็นการฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ได้ในด้านผลลัพธ์ของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ในส่วนที่สามารถเอื้อประโยชน์ได้อย่างสมดุลทั้ง ๓ ฝ่าย คือ ผู้ประกอบการ ชุมชนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการก็ได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวโดยเร็ว ขณะเดียวกับชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนของตน รวมทั้งมีโอกาสได้แบ่งรับรายได้จากการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวจากแหล่งท่องเที่ยวหลักในประเทศ และสุดท้าย นักท่องเที่ยว ซึ่งก็คือกลุ่มจิตอาสาเหล่านั้น ที่เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมรักษาแหล่งท่องเที่ยว และสนับสนุนรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ได้รับความประทับใจและท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่คงความสวยงามตลอดไป” พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค กล่าวสรุปในตอนท้าย
กุณฑิกา ศรีแปดริ้ว 0894406218
baitoey_mandm@yahoo.com