กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--เอแบคโพลล์
เมื่อเช้าวันที่ 17 มกราคม 2555 ที่โรงแรมทีเคพาเลส กรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้จัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษา เรื่องแนวทางการพัฒนาด้านการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากทรัพยากรชีวภาพของชุมชนท้องถิ่นใน 3 กรณีศึกษา หลังจากที่นักศึกษาและคณาจารย์จากทั้งสามมหาวิทยาลัย ได้เข้าไปปฏิบัติงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น ตั้งแต่วันที่ 3 -16 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา
คุณจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้ประสานงานในโครงการระหว่างประเทศไทยและมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการ SMART หรือ the Student Multidisciplinary Applied Research Team (SMART) Program ของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ที่ต้องการให้นักศึกษาได้นำความรู้จากห้องเรียนไปปฏิบัติจริง ในลักษณะงานวิจัยร่วมเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ มีหลักการ คือ “การออกแบบและคัดเลือกทีมวิจัยให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญหาหรือความต้องการของชุมชนท้องถิ่นแต่ละแห่ง” โดย SMART Team จะลงปฎิบัติงานในพื้นที่ศึกษาชุมชนในชนบท โดยพื้นที่ศึกษาได้แก่
(1) โครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศชุมชนตำบลห้วยแร้ง อำเภอเมือง จังหวัดตราด
(2) โครงการผลิตถ่านไม้ไผ่ชุมชนตำบลดงบัง อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
(3) โครงการผ้าย้อมครามชุมชนตำบลกุดบาก อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร
ในปี 2555 นี้ นับเป็นครั้งแรกที่โครงการ SMART ได้จับมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศเจ้าบ้านและเลือกดำเนินงานกับประเทศไทยเป็นประเทศแรก โดยมีสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือ ตั้งแต่ระยะเตรียมการ, ระยะดำเนินโครงการ SMART และภายหลังโครงการ SMART เสร็จสิ้นลง โดย สพภ. และมหาวิทยาลัยในประเทศเจ้าบ้าน จะยังคงทำหน้าที่ช่วยสนับสนุนและประสานงานระหว่างชุมชนท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ จนกว่าโครงการของชุมชนท้องถิ่น จะสามารถดำเนินงานได้ด้วยตนเอง
การประชุมในวันอังคารที่ 17 มกราคม 2555 นี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการ SMART 2012 เบื้องต้น พร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยคาดหวังว่า การดำเนินงานโครงการ SMART 2012 ครั้งนี้ จะเป็นแนวทางสร้างกลไกความร่วมมือระหว่าง สพภ. และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ รวมทั้ง จะเป็นการสร้างต้นแบบการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สพภ.และสถาบันการศึกษา โดยอาศัยรูปแบบของโครงการ SMART มาปรับประยุกต์ให้เหมาะสมต่อไป ในการนี้คณะทำงานได้รับความร่วมมือจากศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR) หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในการประเมินผลการดำเนินงานเบื้องต้นนี้ด้วย
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า โดยภาพรวมของการประเมินเบื้องต้นด้วยการวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณของทั้งสามโครงการ พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่อยากจะให้โครงการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพระดับชุมชนนี้ดำเนินต่อไป เพราะช่วยเพิ่มรายได้และเป็นการประกอบธุรกิจเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ค่าคะแนนของการประเมินตกอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีถึงระดับดีทั้งในเรื่องกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ การบริการ บุคลากร และประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านมีสองกลุ่มที่ถูกศึกษาคือ กลุ่มที่เข้าร่วมโครงการและกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมโครงการ โดยพบว่า ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ชุมชนจังหวัดตราดส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า ลำห้วยมีความสมบูรณ์ ยามค่ำคืนมีหิ่งห้อยบินออกมามากมาย อากาศดี เป็นธรรมชาติ และปลอดมลพิษ
“ชาวบ้านส่วนใหญ่อยากให้โครงการพัฒนาต่างๆ ที่ลงพื้นที่ตำบลห้วยแร้งนี้คำนึงถึงการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติไว้ และขอปฏิเสธโครงการพัฒนาขนาดใหญ่แต่ต้องการการพัฒนาที่ทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ผลการประเมินคุณภาพบุคลากรเจ้าหน้าที่ของ สพภ. ยังพบว่า ชาวบ้านพอใจต่อการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่เป็นกันเอง และศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศน์ของตำบลห้วยแร้งมาก่อน แต่อยากให้ปรับปรุงเรื่องการติดต่อสื่อสารกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย นอกจากนี้อยากให้มีการฝึกสอนภาษาอังกฤษให้ชาวบ้านเพื่อเตรียมพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ” ดร.นพดล กล่าว
สำหรับผลการประเมินโครงการผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ชุมชน จังหวัดปราจีนบุรี นั้น ดร.นพดล กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่พอใจต่อโครงการนี้ เพราะช่วยเพิ่มรายได้และเป็นการทำธุรกิจของชุมชนโดยใช้ไม้ไผ่ในชุมชนนำมาทำเป็นสินค้าชุมชน เช่น เครื่องจักสาน ถ่านไม้ไผ่ สบู่ และผลิตภัณฑ์ดับกลิ่น เป็นต้น ชาวบ้านส่วนใหญ่มองว่า การประชาสัมพันธ์และเป้าหมายของโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนนี้ชัดเจน เข้าใจง่าย เป็นรูปธรรม จับต้องได้ นอกจากนี้ ชาวบ้านอยากให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพราะมีป่าไม้ไผ่ชุมชนบ้านโนนหินผึ้งเป็นแหล่งปลูกพืชสมุนไพรและมีอุทยานธรรมชาติเพื่อการเรียนรู้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือด้านการตลาด ช่องทางจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพราะที่ผ่านมามีการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนำงบประมาณมาให้ผลิตแต่ไม่มีการช่วยเหลือด้านการตลาด ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตออกมาขายไม่ออกและชาวบ้านบางส่วนไม่เข้าร่วมโครงการโดยหันไปประกอบอาชีพอื่น
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อประเมินโครงการย้อมผ้าครามในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ก็พบว่า ผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์ที่ชาวบ้านต้องการให้ดำเนินการต่อไปทั้งในกระบวนการผลิต บุคลากร ผลิตภัณฑ์ และประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ ถึงแม้ว่าสิ่งที่ชาวบ้านได้รับหรือเห็นจริงจะต่ำกว่าความคาดหวังในหลายประการก็ตาม เช่น การประชาสัมพันธ์โครงการ การร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน และความเพียงพอของบุคลากรในโครงการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจพบว่า ชาวบ้านผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่ระบุว่าหลังเข้าร่วมโครางการรายได้ของพวกเขาสูงขึ้นโดยปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยในจังหวัดตราดอยู่ที่ 20,833 บาทต่อเดือน จังหวัดปราจีนบุรีอยู่ที่ 14,125 บาทต่อเดือน และจังหวัดสกลนครอยู่ที่ 9,714 บาท ตามลำดับ
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลการประเมินเบื้องต้นพบว่าโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของ สพภ. เป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมและรักษาไว้เพราะเป็นไปตามหลักการของการพัฒนาประเทศที่เพิ่มความสุขให้แก่ชาวบ้านและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชายขอบ (Marginal Economy) เป็นการมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนที่มักจะถูกละเลยหรือมองข้ามไปจากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงวัตถุนิยมและทุนนิยมในเมืองใหญ่ ดังนั้น ฝ่ายการเมืองและกลไกของรัฐอาจนำข้อมูลและสิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาวิจัยโครงการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดตราด ปราจีนบุรีและสกลนคร ไปศึกษาอย่างลึกซึ้งและขยายผลเพื่อหาแนวทาง “ปลดอคติแห่งมหานคร” ที่นโยบายการพัฒนาประเทศมักจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์จากกลุ่มทุนในเมืองใหญ่และประเทศมหาอำนาจ โดยไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและมักจะทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของชุมชน