ส.ไทยรับสร้างบ้าน เตือนต้นทุนพุ่ง น้ำมันแพง แรงงานขาด

ข่าวอสังหา Wednesday January 18, 2012 11:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--สมาคมไทยรับสร้างบ้าน สมาคมฯ มองตลาดรับสร้างบ้านปีมังกรน่าเป็นห่วง เหตุจาก 3 ปัจจัยลบรุมเร้าได้แก่ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แรงงานขาดแคลน ความกังวลต่อปัญหาน้ำท่วมซ้ำของผู้บริโภค เตือนรายเล็กรายกลางเฝ้าระวังต้นทุนพุ่งภายหลังทำสัญญาก่อสร้าง อาจส่งผลให้ธุรกิจเสียหายหรือไปไม่รอด แนะเร่งสร้างเครือข่ายธุรกิจรับมือการแข่งขันในอนาคต นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศปี 2555 นี้ แนวโน้มไม่สดใสเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับตัวเองเพื่อให้พร้อมรับมือ โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลยอมรับว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง คาดว่าปัจจัยลบที่มีผลกระทบรุนแรงในปีนี้ได้แก่ 1.ราคาก๊าซและน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 2.การขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง และ 3.ความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำ โดยเฉพาะปัจจัยที่น่าเป็นห่วงและสำคัญคือ ราคาก๊าซและน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ ทั้งราคาก๊าซที่ทยอยปรับขึ้นหรือปล่อยให้ราคาลอยตัว และราคาน้ำมันดีเซลที่จะสิ้นสุดมาตรการยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลิตรละ 5 บาท ซึ่งรัฐบาลจะต้องกลับมาจัดเก็บภาษีตามเดิม อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งและวัสดุ ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจรับสร้างบ้าน ฉะนั้นหากผู้ประกอบการไม่เฝ้าระวังภาวะต้นทุนที่ปรับขึ้น หรือมัวแต่มุ่งทำตลาดโดยไม่ศึกษาแนวโน้มต้นทุนในอนาคต อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายหรือขาดทุนได้ เนื่องจากการก่อสร้างบ้านต้องใช้ระยะเวลาเฉลี่ยอีก 8-12 เดือนขึ้นไป ซึ่งภายหลังจากทำสัญญาแล้วผู้ประกอบการจะไม่สามารถปรับราคาบ้านเพิ่มได้ จึงถือว่ามีความเสี่ยงสูงในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันผันผวนอย่างมากในปีนี้ โดยเฉพาะบริษัทรับสร้างบ้านรายเล็กๆ ซึ่งมีปริมาณสั่งซื้อวัสดุไม่มากพอก็จะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ หรือจะต้องแบกรับภาระเองทั้งหมด ปัจจัยต่อมาคือการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง สำหรับภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน ณ เวลานี้ถือว่าอาการหนัก เพราะแรงงานก่อสร้างคนไทยหายากมาก เนื่องเพราะเป็นงานหนักและค่าจ้างไม่จูงใจ เมื่อเปรียบเทียบกับการกลับสู่ภาคการเกษตรในปัจจุบัน ฉะนั้นผู้ประกอบการควรนำระบบพรีแฟบและวัสดุก่อสร้างกึ่งสำเร็จรูปมาใช้สร้างบ้านมากขึ้น สุดท้ายในส่วนของความกังวลว่าปีนี้อาจาดเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นอีก ทำให้ผู้บริโภคชะลอการสร้างบ้านเอาไว้ เพื่อจะรอดูสถานการณ์ให้มั่นใจก่อนจะตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่ ซึ่งคาดว่าจะยืดเยื้อไม่น้อยกว่า 3-6 เดือนหรือผ่านครึ่งปีแรกไปแล้ว ความเชื่อมั่นจึงจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ ภายใต้แผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่จะประกาศออกมาอย่างชัดเจน ดังนั้นปีนี้ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ซึ่งคาดว่าจะเกิดจากปัจจัยลบทั้ง 3 ประการที่กล่าวข้างต้น ทั้งนี้เพื่อสามารถประคองธุรกิจให้ฝ่าพ้นไปได้ รวมทั้งควรให้ความสำคัญกับการปรับตัว ด้วยการสร้างพันธมิตรธุรกิจและสร้างเครือข่ายธุรกิจให้เข้มแข็ง เพราะการดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านและสถานการณ์การแข่งขันนับจากนี้ไป เป็นเรื่องของการสร้างเน็ตเวิร์คเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน และการมีภาพลักษณ์เป็นที่น่าเชื่อถืออย่างชัดเจน ฉะนั้นผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่อยู่ในธุรกิจนี้ โดยเฉพาะรายเล็กและรายกลางควรเร่งปรับตัวโดยเร็ว นายสิทธิพร กล่าวเพิ่มเติม สำหรับตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ประเมินว่าความต้องการหรือกำลังซื้อยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดที่น้ำไม่ท่วมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมถึงจังหวัดที่เป็นหัวเมืองหลักในแต่ละภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ระยอง หัวหิน ภูเก็ต ฯลฯ ซึ่งเศรษฐกิจมีการขยายตัวและมีความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านควรหาทางขยายการให้บริการไปยังจังหวัดเหล่านี้ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและเปิดสู่ตลาดใหม่ รวมทั้งเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพราะที่ผ่านมาธุรกิจรับสร้างบ้านกระจุกตัวอยู่แต่เฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑลมานาน อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ประเมินว่า "บ้านสร้างเอง" ทั่วประเทศในปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาท (ไม่ได้สร้างโดยผู้ประกอบการบ้านจัดสรร) ในขณะที่คาดว่า "ธุรกิจรับสร้างบ้าน" จะสามารถแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้ประมาณร้อยละ 8-8.5 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาทเศษ แต่หากว่ากลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ได้ดี เชื่อว่าจะสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งปีนี้คาดว่าเฉพาะสมาชิกส.ไทยรับสร้างบ้านจะมีแชร์ส่วนแบ่งประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาทขึ้นไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ