งานแถลงข่าวแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้าง และ สรุปผลการ ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

ข่าวทั่วไป Wednesday January 18, 2012 18:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--จริงใจครีเอชั่น ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้และสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่องสำหรับ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายใต้สังกัด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม จากปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่การเกษตร จนกลายเป็นความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า และจากกรณีช้างป่าถูกฆ่าตายที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จึงทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้าง ล่าสุดได้มีการจัดตั้ง “ กองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย ” โดยได้มีการแถลงข่าวการจัดตั้งกองทุน และแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า ตลอดจนแถลงสรุปผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ณ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม เป็นประธานการแถลงข่าว นอกจากนี้ยังมี นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง เดินทางมาร่วมในงานแถลงข่าว นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข กล่าวว่า “จากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับช้างป่า ปรากฎการณ์ช้างป่าออกมาหากินและทำลายพืชผลทางเกษตรของประชาชนซึ่งมีที่ทำกินอยู่รอบๆพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่ง สร้างความไม่พอใจให้กับราษฎรที่มีพืชผลได้รับความเสียหาย จึงต้องหาทางป้องกันพืชไร่ของตนเอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลและอนุรักษ์ป่าโดยตรง จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแนะนำให้ชาวบ้านปลูกสัปปะรดเพื่อเป็นอาหารช้าง และให้ช่วยกันดูแลพืชอาหารช้าง พร้อมกับทรงแนะนำให้ตั้งกองทุนอาหารช้าง เพื่อรับบริจาคอาหารสดหรือเงินนำไปซื้ออาหารอาหารให้ช้างกินเพื่อช้างกับคนจะได้อยู่ด้วยกันอย่างปกติสุข มาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาระหว่างคนกับช้างป่า โดยจัดตั้ง กองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย เพื่อรับบริจาคเงินจากทั้งภายในและต่างประเทศ ในการนำไปชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการที่ช้างป่าเข้าไปกินและทำลายพืชไร่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ จากการที่ช้างมากินพืชผลขอเกษตรกร โดยใช้วิธีการประกันราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรเท่ากับราคาตลาดเป็นหลัก จึงขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีความประสงค์ช่วยเหลือช้างป่า สามารถบริจาคเงินผ่านเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี กองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย(Thailand’s Wild Elephant Food Security Fund หรือชื่อย่อ TEFS ) เลขที่บัญชี 039-0-35626-3 ธนาคารกรุงไทย สาขาพหลโยธิน 39 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ” ในขณะเดียวกัน นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ สำหรับ กองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย (Thailand’s Wild Elephant Food Security Fund หรือชื่อย่อ TEFS) นั้นไม่มีนโยบายการตั้งตู้รับบริจาคที่ไหน เพราะป้องกันการทุจริตในรูปแบบต่างๆโดยใช้ข้ออ้าง กองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย ฉะนั้นถ้าประชาชน หรือ ภาคเอกชนใดต้องการที่จะบริจาคสามารถบริจาคได้ทางเดียวคือ บัญชีกองทุนช่วยเหลืออาหารช้างป่าแห่งประเทศไทย(Thailand’s Wild Elephant Food Security Fund หรือชื่อย่อ TEFS ) เลขที่บัญชี 039-0-35626-3 ธนาคารกรุงไทย สาขาพหลโยธิน 39 เท่านั้น และตอนนี้ทางเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้นำร่องบริจาคเข้ากองทุนเรียบร้อยแล้วโดยหักจากบัญชีเงินเดือนส่วนหนึ่ง เพื่อสร้างตัวอย่างที่ดีในการทำหน้าที่อนุรักษ์ช้างในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ช้างป่าของไทยนับเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ฉะนั้นผู้ใดที่กำลังทำร้ายช้างอยู่ ไม่ว่าวัตถุประสงค์ใดเลิกเถอะครับ และ สำหรับในเรื่องของความคืบหน้าผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ล่าสุดมีการแจ้งความจับกุมรีสอร์ท บ้านพักที่บุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี และอ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เพิ่มเติม 152 คดี ซึ่งการจับกุมครั้งนี้คาดว่าจะได้พื้นที่อุทยานฯ ที่ถูกบุกรุกทั้งหมดกว่า 2,600 ไร่ และการดำเนินการที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานผ่านพ้นไปด้วยดี ไม่มีประชาชนออกมาต่อต้านรุนแรงเหมือนเช่นที่ผ่านมา จากนี้ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย โดยส่งเรื่องไปที่ศาลชั้นต้นก่อน และให้ตำรวจออกมาเรียกเจ้าของ ให้นำหลักฐานมาแสดง โดยกฎหมายจะให้เวลาเจ้าของมาแสดงหลักฐานภายใน 15-30 วัน แต่กรณีนี้เราจะประกาศให้เวลา 30 วัน 2 ครั้ง ถ้าไม่มาแสดงตัวหรือมีการต่อสู้คดี เราก็จะดำเนินการตาม มาตรา 22 ของ พ.ร.บ.อุทยานฯ ได้ทันที เพราะไม่ปรากฏว่ามีเจ้าของมาแสดงตัว”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ