กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--อุทยานการเรียนรู้ TK park
อุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดตัว “ชุดสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นภาคใต้รูปแบบใหม่” ในรูปแบบหนังสือสำหรับเด็ก พร้อมผลักดัน “TK park ยะลา เป็นแม่ข่ายทางปัญญา”เพื่อขยายความร่วมมือสู่พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตลอดจนเชื่อมโยงไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน โดย ‘TK park ยะลา’ จะเป็นพี่เลี้ยงในการขยายผลการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มีชีวิต และเป็นแหล่งกระจายสื่อที่ทันสมัยในพื้นที่ภาคใต้
เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2555 อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับเทศบาลนครยะลา และ TK park ยะลา จัดงานแถลงข่าวและเปิดตัวชุดสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นภาคใต้ ภายใต้ชื่องาน “เวาะรือเต๊าะ...ลูกยางจอมซน” สื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นภาคใต้รูปแบบใหม่ โดยได้เปิดตัวสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบหนังสือสำหรับเด็ก เพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและกระจายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย รวมทั้งให้เด็ก เยาวชน และประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ได้รับความรู้และมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน โดยนำเรื่องราวของภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่นซึ่งคนในท้องถิ่นเห็นอยู่ในชีวิตประจำวันจนชินตา ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบหนังสือสำหรับเด็ก จำนวน 7 เล่ม พร้อมสอดแทรกเรื่องราวของคุณธรรมจริยธรรมลงไปในหนังสือด้วย
ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานการบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) กล่าวว่า สื่อการเรียนสาระท้องถิ่นภาคใต้ที่ได้จัดทำขึ้นครั้งนี้ ทาง สอร.ได้ร่วมกับนักวิชาการและนักเขียนสร้างสรรค์ขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากนายกเทศมนตรีนครยะลา เพื่อให้เด็กและเยาวชนรวมทั้งประชาชนทั่วไปในภาคใต้ ได้รับความรู้และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและท้องถิ่นตน รวมทั้งก่อให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับในวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป
“ สื่อชุดนี้เป็นสื่อท้องถิ่นที่เป็นปัจจุบันและทันสมัยมากขึ้น แม้ภาพรวมอาจจะดูเหมือนหนังสือเด็กทั่วไป แต่มีความแตกต่างในส่วนของของวัฒนธรรมบางอย่างที่ปรากฏในหนังสือชุดนี้ เช่น ของกิน ของเล่น หรือเรื่องราวภูมิปัญญาสาระท้องถิ่นใกล้ตัว และการดำเนินชีวิต
สอร. จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือชุดนี้ จะเป็นสื่อการเรียนรู้อีกชุดหนึ่งที่จะส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงเป็นหนังสือที่ผู้อ่าน อ่านอย่างมีความสุข สนุกในการอ่าน และก่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของท้องถิ่นตนเองได้อย่างแท้จริง”
ผอ.สอร. กล่าวอีกว่า “หลังจาก สอร. ได้มอบชุดสื่อสาระท้องถิ่นให้กับทางเทศบาลนครยะลาแล้ว ต่อไปบทบาทของ TK park ยะลา นอกจากเป็นอุทยานการเรียนรู้แห่งแรกของภูมิภาคแล้ว จะเป็น “แม่ข่ายทางปัญญา หรือ Hub ภาคใต้” เพื่อขยายผลการพัฒนาแหล่งเรียนรู้มีชีวิต การถ่ายทอดกระบวนการในการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิต องค์ความรู้ และกระจายสื่อที่ทันสมัย รวมถึงการขยายผลความร่วมมือด้านการส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ตลอดจนเชื่อมโยงไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถือเป็นการรองรับการเข้าสู่
ประชาคมอาเซียนที่จะถึงในปี 2558”
คุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า เนื่องจากเทศบาลนครยะลาต้องการสร้างโอกาสและนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นภายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอยากให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนต่างศาสนาในพื้นที่ซึ่งแม้ว่าจะแตกต่างกัน แต่มีค่านิยมร่วมกันในเรื่องการรักถิ่นฐานบ้านเกิด การจัดทำสื่อสาระท้องถิ่นชุดนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งในการปลูกฝังเรื่องรักษ์บ้านเกิดให้เกิดขึ้นได้ และเชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาเรื่องของจิตอาสาต่อไป
“คาดหวังว่าสื่อสาระท้องถิ่นที่จัดทำขึ้น จะทำให้เด็กและเยาวชนมีความเข้าใจเรื่องของความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ นอกจากความเข้าใจแล้ว ยังหวังในคนนอกพื้นที่ได้มีโอกาสศึกษาเรื่องราวของคนในท้องถิ่นจังหวัดยะลาและสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นด้วย”
สำหรับการผลักดันให้ อุทยานการเรียนรู้ ยะลา หรือ TK park ยะลา เป็นแม่ข่ายทางปัญญา หรือ Hub ของแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ภาคใต้นั้น นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า “ ทางเทศบาลนครยะลารู้สึกยินดีและพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้ในการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิตให้กับจังหวัดอื่นๆในภาคใต้ที่สนใจ โดยในส่วนของ TK park ยะลาเอง แม้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตต้นแบบของภาคใต้ แต่เราพยายามจัดซื้อจัดหาหนังสือและสื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ รวมทั้งกิจกรรมที่ทันสมัยเข้ามาเสริมเพื่อรองรับผู้ใช้บริการมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่เปิดให้บริการมา”
ด้านคุณระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการ และหนึ่งในนักเขียนหนังสือชุดนี้ กล่าวว่า ความคาดหวังของนักเขียนในการทำหนังสือชุดนี้คือ ต้องการพลิกภาพสื่อท้องถิ่นจากเดิมที่คนเรามักมองว่าเก่า เชย ดูจริงจังและสั่งสอน มากเกินไป แต่สำหรับสื่อชุดนี้จะเป็น ‘การจุดประกาย’ ให้คนมองสื่อท้องถิ่นในรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น นอกจากให้ความรู้แล้วต้องคำนึงถึงความสนุกสนานของเนื้อหาที่ต้องถูกใจเด็กด้วย เพราะต่อให้หนังสือมีเนื้อหาที่มีประโยชน์แค่ไหน แต่ถ้าเด็กไม่อยากอ่านก็เปล่าประโยชน์ จึงหวังว่าจะเป็นแนวทางในการทำสื่อท้องถิ่นที่คิดถึงความสนุกของเด็กเป็นสำคัญต่อไป
“อยากให้คนหันมามอง แล้วก็สนใจว่าจริงๆ แล้วสื่อท้องถิ่นมันก็ทำในรูปแบบนิทานเหมือนที่ขายกันทั่วไป มันไม่ต้องหน้าตาเชยๆก็ได้ ซึ่งหนังสือชุดนี้มันก็เหมือนหนังสือนิทานสำหรับเด็ก แต่ว่าใช้ข้อมูลจากท้องถิ่น เมื่อครูหรือพ่อแม่ หรือคนในท้องถิ่นที่นำไปใช้ ก็เชื่อมโยงต่อไปได้ มันไม่ได้จบแค่หนังสือ อย่างอีเล้งเค้งโค้ง ก็พาเด็กไปทัศนศึกษาได้ หรือของเล่น ของกิน ก็พาเด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน มันเชื่อมโยงไปได้หมดเลย อันนี้เป็นแค่ตัวตั้งต้นสู่การเรียนรู้ในเรื่องของท้องถิ่นของตัวเอง”
ทั้งนี้ ชุดสื่อการเรียนรู้สาระท้องถิ่นภาคใต้ ทั้ง 7 เล่มนี้ ได้แบ่งตามกลุ่มอายุและพัฒนาการของเด็ก คือ อายุ 0-3 ปี ได้แก่ ตัวจิ๋วกับนิ้วมือ , รอก่อนนะ และ ตบมือให้หน่อยเก่งจัง ทั้ง 3 เรื่องนี้สร้างสรรค์ให้เหมาะกับวัยเด็กเล็ก คือ มีตัวละครและตัวหนังสือน้อย ภาพดูเข้าใจง่าย โดยออกแบบให้อยู่ในรูปของหนังสือเสริมทักษะ ที่มุ่งเน้นพัฒนาการด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ และทักษะด้านสังคมเป็นหลัก
สำหรับเด็กอายุ 4-6 ปี มี 2 เรื่อง ได้แก่ เวาะรือเต๊าะ ลูกยางจอมซน และอีเล้งเค้งโค้ง เที่ยวเมืองใต้ นำเสนอเป็นหนังสือนิทานภาพ เพื่อให้เหมาะสมกับเด็กวัยอนุบาล ที่อยากรู้อยากเห็น และเป็นวัยที่มีจินตนาการโลดแล่น ไร้ขีดจำกัด และสำหรับกลุ่มเด็กโตขึ้นมาในระดับชั้นประถมศึกษา วัย 7-12 ปี คือ ทุกวันมีแต่ของอร่อย และ ทุกวันเป็นวันสนุก เป็นหนังสือภาพสารคดีที่สื่อสารเรื่องราวที่น่าสนใจสำหรับเด็กวันนี้ โดยใช้ข้อมูลจริงที่มีอยู่ในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมือหนังสือคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง อ่าน เล่า เล่น และเรียนรู้จากหนังสือ ซึ่งเป็นหนังสือที่ช่วยแนะนำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก
หนังสือทุกเล่มในโครงการสร้างสรรค์สื่อกรเรียนรู้สาระท้องถิ่นชุดนี้ จึงไม่เพียงเป็นหนังสือที่อ่านเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่เป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้และส่งเสริมการพัฒนาทักษะของเด็กทุกคน