กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--BRAINASIA COMMUNICATION
วันที่ 18-23 พ.ค. 55 ณ.ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) ภายใต้ วสท.โดย รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธาน คณะกรรมการฯและประธานจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 เผยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมอุโมงค์โลก (World Tunnel Congress - WTC 2012)ครั้งยิ่งใหญ่ ในวันที่ 18-23 พ.ค. 2555 ณ.ศูนย์การประชุมแห่งช่าติสิริกิติ์ ภายใต้หัวข้อ Tunnelling and Underground Space for Global Society อุโมงค์และการใช้พื้นที่ใต้ดินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประเทศและประชาชาติอาเซียน เตรียมจัดงานยิ่งใหญ่ต้อนรับผู้เชี่ยวชาญและบุคคลสำคัญจาก 64 ประเทศทั่วโลก เสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพื่อการพัฒนาและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืน ไทยพร้อมก้าวสู่การเป็นฮับการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ของอาเซียน
รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Suchatvee Suwansawat) ประธานคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (Thailand Underground and Tunnelling Group หรือ TUTG ภายใต้ วสท.และประธานจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 กล่าวว่า “คณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ หรือ TUTG เป็นศูนย์กลางวิศวกร นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยที่ร่วมกันทำงาน โดยการสนับสนุนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการพัฒนาการใช้งานพื้นที่ใต้ดินและการสร้างอุโมงค์เพื่อประโยชน์ของประเทศและสังคมระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ TUTG เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประชุมอุโมงค์โลก (World Tunnel Congress2012) ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต การคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคพื้นฐานของไทยให้มีความก้าวหน้า จึงได้ผลักดันประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอุโมงค์โลกปี 2012 (WTC 2012) เป็นผลสำเร็จ แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจระดับสูงที่นานาชาติมีต่อ TUTG และประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งสมาคมอุโมงค์และพื้นที่ใต้ดินนานาชาติ (ITA-AITES) การประชุมอุโมงค์โลกเป็นหนึ่งในการประชุมนานาชาติที่ยิ่งใหญ่เสมือน “โอลิมปิกแห่งวิศวกรรมก่อสร้างของโลก” โดยจะมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการที่ก้าวล้ำ โครงการก่อสร้างใต้ดินที่สำคัญในโลกและการแสดงสินค้าและบริการด้านความก้าวหน้าและการพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้างใต้ดินจากทั่วโลก สมาคมอุโมงค์และพื้นที่ใต้ดินนานาชาติ (ITA-AITES) เป็นองค์กรด้านวิชาการนานาชาติที่ให้คำปรึกษาแก่สหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council ,UN-ECOSOC ) ITA-AITES ยังมีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรยุทธศาสตร์การลดอุบัติภัยของสหประชาชาติอีกด้วย United Nations International Strategic Disaster Reduction (UN-ISDR) มีภารกิจในการส่งเสริมการพัฒนาการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน รักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมความก้าวหน้าในการวางแผน, การออกแบบ, การก่อสร้าง, การบำรุงรักษาและความปลอดภัยของอุโมงค์และพื้นที่ใต้ดิน ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั่วโลกรวม 64 ประเทศ ในภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีประเทศที่เป็นสมาชิก ITA-AITES ได้แก่ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว และในอนาคตอันใกล้ เมียนมาร์กำลังจะเข้ามาเป็นสมาชิกด้วย
ในปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่ใต้ดินโดยเฉพาะงานอุโมงค์เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อขจัดปัญหาระบบคมนาคมและสาธารณูปโภคที่แออัดบนผิวดิน งานพื้นที่ใต้ดินและอุโมงค์จึงเป็นทางเลือกที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณงานก่อสร้างอุโมงค์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก จนกล่าวได้ว่าทศวรรษที่ 21 นี้เป็นทศวรรษของงานพัฒนาพื้นใต้ดินเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีกว่าของมวลมนุษยชาติ การประชุมอุโมงค์โลก 2012 ณ ประเทศไทยจะเป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนนานาชาติ และช่วยผลักดันประเทศไทยเป็นฮับการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ของอาเซียน และเป็นเวทีให้วิศวกรและผู้ประกอบการในไทยได้พบกับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลก ที่มีพื้นฐานทางเทคนิคและประสบการณ์ที่หลากหลาย การสาธิตเทคโนโลยีที่ทันสมัย และพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับความท้าทายของงานก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานใต้ดินต่างๆ ในประเทศไทย
ประโยชน์การใช้งานของอุโมงค์ใต้ดิน ตามหลักวิชาการวิศวกรรม ได้แบ่งอุโมงค์ออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่ อุโมงค์ขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2-6 เมตร, อุโมงค์ขนาดปานกลางมีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 6 เมตรขึ้นไป และอุโมงค์ขนาดยักษ์มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป นอกจากประโยชน์ในการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังสามารถใช้งานหลากหลาย เช่น อุโมงค์สำหรับรถยนต์, อุโมงค์สำหรับรถไฟ, อุโมงค์สำหรับรถไฟฟ้าใต้ดิน, อุโมงค์สำหรับระบบสาธารณูปโภค, อุโมงค์สำหรับส่งน้ำประปา, อุโมงค์สำหรับการป้องกันน้ำท่วม, อุโมงค์สำหรับการวางสายไฟฟ้าแรงสูง, อุโมงค์สำหรับขนส่งพลังงาน, อาคารที่อยู่อาศัยใต้ดิน, ห้างสรรพสินค้าใต้ดิน, สนามกีฬาใต้ดิน จนถึงเป็นที่หลบภัยของประชาชนในยามเผชิญภัยพิบัติและภาวะสงครามอีกด้วย
ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาน้ำท่วมจากพายุใหญ่จะมีมากขึ้น ในอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าเมืองต่างๆ กว่าพันแห่งทั่วโลกจะหันมาพัฒนาระบบระบายน้ำและคมนาคมด้วยอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งเป็นการจัดระเบียบให้เมืองมีประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่นและมั่นคงปลอดภัย แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ต่างใช้ระบบอุโมงค์ใต้ดินป้องกันน้ำท่วม สร้างเสถียรภาพความมั่นคงปลอดภัยให้กับเมืองทั้งประชาชนผู้อยู่อาศัยและธุรกิจอุตสาหกรรม พร้อมไปกับประโยชน์ที่ใช้งานหลากหลายเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งไม่เพียงแต่แก้ปัญหาในปัจจุบันแต่ยังต้องรับมือกับความต้องการในอนาคตด้วย
ตัวอย่างเช่น กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย ต้องเผชิญกับน้ำท่วมหนักทุกปีสร้างความเสียหายต่อประชาชนและเศรษฐกิจอย่างมาก ก็ได้สร้างอุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำท่วม (Stormwater Management and Road Tunnel) ระยะทางยาว 9.7 กิโลเมตร ซึ่งออกแบบเป็น 2 ชั้น ชั้นบนใช้เป็นมอเตอร์เวย์และชั้นล่างเป็นทางระบายน้ำท่วม หากปริมาณน้ำท่วมมากก็จะปิดทางรถยนต์ เพื่อใช้พื้นที่ทั้งหมดระบายน้ำท่วม เมื่อเข้าภาวะปกติก็ล้างทำความสะอาดอุโมงค์และเปิดทางรถวิ่งต่อไป
กรณีศึกษาปัญหาน้ำท่วมทางตอนเหนือของเกาะฮ่องกง โดยสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลพายุไซโคลนฤดูร้อนทำให้มีปริมาณฝนเฉลี่ยต่อปี 2,200 มม. สูงที่สุดในชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งปัญหาการขยายตัวของเมืองทำให้พื้นผิวดินแออัดหนาแน่น ขาดพื้นที่รับน้ำจากพายุฝน รัฐบาลจึงได้ทำโครงการแผนแม่บทอุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำ (Storm Water Drainage Master Plan) ซึ่งครอบคลุมย่านเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ Kennedy Town , Shek Tong Tsui, Sai Ying Pun, Sheung Wan, Central และ Wan Chai อุโมงค์ใต้ดินสามารถลดปัญหาความเดือดร้อนของชาวฮ่องกงและปกป้องเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมเมืองทั้งในปัจจุบันรวมถึงรองรับความต้องการในอนาคตอีกด้วย โดยฮ่องกงได้เริ่มก่อสร้างโครงการตั้งแต่ พ.ย. ปี 2007 และกำหนดจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2012 โครงการประกอบด้วยการพัฒนาระบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดิน ทำอุโมงค์ Flood Storage ขนาดใหญ่ในฝั่งตะวันตกของเกาะฮ่องกงเพื่อสกัดกั้นน้ำแล้วสูบออกสู่ทะเล ในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยประสบอุทกภัยน้ำท่วมที่มาจากทะเลสาบมิชิแกนอย่างรุนแรงมาตลอด 20 ปี ก็แก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยระบบอุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำความยาวกว่า 174 กิโลเมตรและอ่างเก็บน้ำแก้มลิงขนาดใหญ่ (Chicago’s Tunnel and Reservoir Plan) เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นด้วยโครงการที่เรียกว่า G-CANS หรือ Tokyo Flood Tunnel ก็ใช้อุโมงค์ใต้ดินระบายน้ำท่วมระยะทาง 64 กิโลเมตรและแก้มลิงใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับอุโมงค์เพื่อการคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ Boston Central Artery มีขนาดกว้างถึง 12 เลน หรือเท่ากับถนนราชดำเนินของกรุงเทพฯ ประเทศในยุโรปมีประสบการณ์พัฒนาสาธารณูปโภคให้ก้าวหน้ามั่นคงด้วยเทคโนโลยีก่อสร้างอุโมงค์ ส่วนในเอเชีย มีประเทศญี่ปุ่นถือได้ว่ามีเทคโนโลยีไม่แพ้ยุโรป
รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ (TUTG) และประธานจัดงานประชุมอุโมงค์โลก 2012 กล่าวถึงแนวโน้มการเติบโตของการใช้พื้นที่ใต้ดินและอุโมงค์ในเอเชีย ว่า “คาดว่าจะมีมูลค่าเท่ากับ 7-8% ของ GDP และจะเติบโตต่อเนื่องในระยะ 20 ปีต่อไป จีนกำลังเป็นประเทศที่มีงานก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นตัวอย่างของการพัฒนาสาธารณูปโภคที่ตอบรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ บางบริษัทมีหัวเจาะ TBM ที่กำลังดำเนินงานในพื้นที่ก่อสร้างใต้ดินในจีนถึง 300 หัวเจาะ เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศที่มีโครงการพัฒนาประเทศด้วยอุโมงค์ใต้ดินที่ก้าวล้ำด้วยเทคโนโลยีจำนวนมาก เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงลอดใต้ทะเลระหว่างโฮนัม—เชจู, โครงการอุโมงค์ลอดทะเลเชื่อมเกาหลีใต้และญี่ปุ่น, โครงการอุโมงค์ใต้ทะเลเชื่อมระหว่างเกาหลีใต้และจีน เช่นเดียวกับเวียดนามและอินโดนีเซียก็กำลังพัฒนาระบบสาธารณูปโภคใต้ดินและเริ่มสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินแล้วรวมทั้ง Railway Tunnel ในเกาะสุมาตรา นอกจากนี้รัสเซียยังมีโครงการใหม่ที่ชื่อว่า Bering Street Tunnel ซึ่งเป็นอุโมงค์คมนาคมเชื่อมระหว่างแผ่นดินรัสเซียกับอลาสกา ส่วนแนวโน้มการเติบโตของการใช้พื้นที่ใต้ดินและอุโมงค์ในประเทศไทย และจะขยายตัวต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี ฟื้นฟูให้ระบบสาธารณูปโภคมีความมั่นคงเพื่อสร้างความมั่นใจให้ธุรกิจอุตสาหกรรมและรองรับการพัฒนาประเทศและตลาดประชาคมอาเซียนพร้อมไปกับการป้องกันภัยพิบัติ
ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเป็นฮับงานก่อสร้างใต้ดินของอาเซียน เนื่องจากเราโดดเด่นในศักยภาพในด้านวิศวกรรมเทคโนโลยีครบวงจร ทั้งบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา, การออกแบบ, ความเชี่ยวชาญในการควบคุมงาน, บริษัทก่อสร้าง ซัพพลายเชนวัดุก่อสร้าง, อุปกรณ์เครื่องจักรและแรงงานบุคคลากรที่มีคุณภาพ รัฐบาลควรส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ บริการในประเทศ และผู้ประกอบการของไทย สิ่งใดที่ไทยผลิตเองไม่ได้ก็ควรจะส่งเสริมให้ถ่ายทอดเทคโนโลยีโนฮาว์ (Know-How) มาใช้ในการผลิต และรัฐบาลควรสนับสนุนประมาณ 2% ของงบประมาณโครงการสาธารณูปโภคในประเทศสำหรับงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและการพัฒนาประเทศชาติอย่างแท้จริง เพื่อช่วยยกระดับสาธารณูปโภคไทย คุณภาพชีวิตของประชาชน การเกษตร และเศรษฐกิจไทยให้มั่นคงยั่งยืน ตลอดจนสามารถรับมือภัยพิบัติธรรมชาติที่จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
www.wtc2012.com ,www.facebook.com/tunnelthailand/, www.twitter.com/tunnelthailand/
PR AGENCY : บ.เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (BrainAsia Communication)
Tel. 02-911-3282 Fax: 02-911-3208
Email : brainasiapr@hotmail.com