กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะผ่อนคลายหลักเกณฑ์การเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์(กอง 1) โดยให้สถาบันที่บริหารเงินให้แก่รายย่อย ซึ่งได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป มีโอกาสได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนของกอง 1 ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องใช้วิธีการจัดสรรให้ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนจำนวนน้อยก่อน (small lot first) ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ลงทุนดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการกำหนดราคาหน่วยลงทุนที่เหมาะสม และทำให้การเสนอขายเป็นไปตามกลไกตลาด อันจะทำให้การจัดตั้งกอง 1 ประสบความสำเร็จ รวมทั้งทำให้ผู้ลงทุนรายย่อยได้รับประโยชน์ไปด้วย
การปรับปรุงหลักเกณฑ์นี้จะยังคงเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถือหน่วยลงทุนได้อย่างทั่วถึง โดยจะกำหนดให้การเสนอขายและจัดสรรหน่วยลงทุนแก่ผู้จองซื้อทั่วไปรวมกับผู้จองซื้อสถาบันที่บริหารเงินให้แก่รายย่อย ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยในส่วนของ ผู้จองซื้อทั่วไปจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 และยังคงต้องจัดสรรด้วยวิธี small lot first
สำหรับการเสนอขายและจัดสรรแก่ผู้จองซื้อพิเศษ* หรือเจ้าของ ผู้ให้เช่า ผู้โอนสิทธิการเช่า หรือผู้ให้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์ที่กอง 1 จะลงทุน (sponsor) หรือกลุ่มบุคคลเดียวกันของบุคคลดังกล่าว หลักเกณฑ์ยังคงเดิมคือ รวมกันไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวจนถึงวันที่ 26 มกราคม 2555 ในการนี้ ก.ล.ต. ได้เผยแพร่เอกสารแสดงความคิดเห็นไว้ที่เว็บไซต์ของ ก.ล.ต. (www.sec.or.th) จึงขอเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจศึกษารายละเอียดและแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ดังกล่าว หรือทางโทรสารหมายเลข 0-2695-9856 หรือทางอีเมล์ที่ msec@sec.or.th
* (ก) ธนาคารพาณิชย์ (ข) บริษัทหลักทรัพย์เพื่อการจัดการทรัพย์สินของตนเอง (ค) บริษัทประกันวินาศภัย หรือบริษัทประกันชีวิต
(ง) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือนิติบุคคลอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น (จ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ช) กองทุนประกันสังคม (ซ) กองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ฌ) สภากาชาดไทย (ญ) มูลนิธิเพื่อสาธารณะประโยชน์ (ฎ) สหกรณ์ออมทรัพย์และชุมนุมสหกรณ์ (ฏ) สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก (ฐ) กองทุนรวมตามกฎหมายต่างประเทศที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนเป็นการทั่วไป (ฑ) ผู้ลงทุนต่างประเทศที่มีลักษณะเดียวกับ (ก) ถึง (ช) (ฒ) ผู้ลงทุนตามที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ