กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--GIZ
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) องค์กรที่ดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนของไทย ฉลองความสำเร็จในการดำเนินโครงการไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ ในอุตสาหกรรมเกษตร 5 กลุ่ม ได้แก่ น้ำมันปาล์ม กุ้ง ผักและผลไม้ กระดาษสา และมันสำปะหลัง ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มผลผลิต เพิ่มโอกาสในการส่งออก และยังใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
โครงการไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ มีระยะเวลาดำเนินงาน 8 ปี (พศ. 2547 — พศ. 2554) ด้วยทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) โดยสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ: สพร. (Thailand International Development Cooperation Agency: TICA) กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ประสานงานฝ่ายไทย การดำเนินงานหลักประกอบด้วย 1) การผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ 2) การปรับปรุงคุณภาพ สร้างมาตรฐาน และการเพิ่มผลิตภาพ และ 3) การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
มร. เดวิด โอเบอร์ฮูเบอร์ ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย และเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าประเทศไทยไม่สามารถใช้กลยุทธ์ที่เน้นการเป็นประเทศต้นทุนต่ำได้อีกต่อไป โครงการฯ จึงมุ่งเน้นการแข่งขันในตลาดโลก โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงรุก พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการลงทุนเพื่อเพิ่มผลผลิต การใช้นวัตกรรมใหม่ๆ โดยคำนึงถึงความสำคัญของระบบนิเวศและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในการผลิตและบริโภค นอกจากผลการดำเนินงานที่น่าพอใจแล้ว โครงการฯ ยังพิสูจน์ได้ว่าการทำธุรกิจนั้น สามารถดำเนินไปได้ควบคู่กับการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการคำนึงถึงสังคม”
ผู้บริหาร สพร. กล่าวว่า “ประเทศไทยและเยอรมนี มีความสัมพันธ์อันดีในการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการในสาขาต่างๆ มา กว่า 55 ปี โครงการไทย-เยอรมัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ ไม่เพียงแต่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงในภาวะการแข่งขันในตลาดโลกในปัจจุบัน ความสำเร็จของโครงการ เกิดจากความมุ่งมั่นร่วมมือกันของผู้ร่วมโครงการทั้งจากภาครัฐและเอกชนตลอดระยะเวลา 8 ปีของการดำเนินงาน ทั้งนี้ ประสบการณ์และผลสำเร็จในการดำเนินงานความร่วมมือโครงการดังกล่าวยังสามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาเป็นความร่วมมือไตรภาคี (Triangular Cooperation ที่เป็น North-South-South Cooperation) ในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ซึ่ง SMEs เป็นหนึ่งในสาขาหลักของความร่วมมือดังกล่าว”
ผลสำเร็จของโครงการในด้านต่างๆ มี อาทิ ในส่วนของการพัฒนาขั้นตอนการผลิต การวิเคราะห์ใบปาล์มได้ช่วยเพิ่มผลผลิตปาล์มร้อยละ 38 การปรับปรุงขั้นตอนการผลิตกระดาษสาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดต้นทุนลงได้ร้อยละ 6.4 โครงการฯ ยังส่งเสริมการส่งออก โดยร่วมพัฒนามาตรฐาน ThaiGAP ให้เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล GLOBALGAP ได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ผู้ประกอบการที่ขอรับรองมาตรฐานสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการตรวจรับรองได้อย่างมาก
ด้านเศรษฐนิเวศ พลังงานหมุนเวียน โครงการฯ ได้ร่วมพัฒนาการใช้งานระบบก๊าซชีวภาพ ฟาร์มสุกร 164 แห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถผลิตก๊าซได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 76 โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่เข้าร่วมโครงการ มีรายได้เพิ่มจากการขายไฟฟ้าพลังงานชีวมวลรวม และได้สร้างโรงงานชีวมวลรวม 27 แห่ง การใช้มอเตอร์มาตรฐานช่วยให้ผู้เลี้ยงกุ้งลดต้นทุนด้านพลังงานลงได้ร้อยละ 10 — 26
หลังจากนี้ ความร่วมมือทางวิชาการของทั้งสองประเทศจะยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้การสนับสนุนการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียน จะช่วยเสริมบทบาทของประเทศไทยในการผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันดังกล่าว ประเทศไทยและเยอรมนียังร่วมมือกันดำเนินโครงการเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นในภูมิภาคอีกด้วย
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ เป็นองค์กรของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ปฏิบัติงานในนามของรัฐบาลเยอรมันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและร่วมมือด้านการศึกษากับนานาประเทศ GIZ ยังปฏิบัติภารกิจในนามของรัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ศิริพร ตรีพรไพรัช ผู้จัดการฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ GIZ
โทรศัพท์ 02 661 9273 ต่อ 33 อีเมล์ siriporn.treepornpairat@giz.de