กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยแจ้งผลการดำเนินงานก่อนการสอบทานสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2554 มีรายได้รวม 7,772.4 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,316.4 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 58.8%
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของธนาคารและบริษัทย่อย สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 31 ธันวาคม 2554 มีกำไรสุทธิจำนวน 1,316.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 487.5 ล้านบาท หรือ 58.8% เมื่อเปรียบเทียบผลกำไรสุทธิจำนวน 828.8 ล้านบาทของปี 2553 สาเหตุหลักจากในไตรมาส 4 มีส่วนแบ่งกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และกำไรจากการขายลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกันให้บริษัทในเครือแห่งหนึ่ง
เมื่อเปรียบเทียบผลดำเนินงานปี 2554 และ 2553 รายได้จากการดำเนินงานปี 2554 จำนวน 7,772.4 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 6,358.9 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1,413.5 ล้านบาท หรือ 22.2% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และรายได้จากการดำเนินงานอื่นของธนาคารที่มีส่วนแบ่งกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบสท. และกำไรจากการขายลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกันให้บริษัทในเครือ ในขณะที่กำไรจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง
สำหรับรายได้ดอกเบี้ยสุทธินั้นเพิ่มขึ้น 327.4 ล้านบาท หรือ 7.6% สะท้อนจากการขยายสินเชื่อ ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง 45.1 ล้านบาท หรือ 4.9% ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมจ่ายจากการเรียกเก็บลูกหนี้เพิ่มขึ้นในปี 2554 รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 1,131.2 ล้านบาท หรือ 101.5% เนื่องจากในไตรมาส 4 ปี 2554 ธนาคารมีส่วนแบ่งกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบสท. และกำไรจากการขายลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกันให้บริษัทในเครือแห่งหนึ่ง
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin — NIM) ปรับลดลงจากปี 2553 จาก 3.77% เป็น 3.46% ในปี 2554 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากและตั๋วแลกเงินที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเป็นผลจากภาวะแข่งขันด้านเงินฝากอย่างรุนแรงในตลาด
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชีของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 119.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.1% เมื่อเทียบกับ ณ 31 ธันวาคม 2553 ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และสินเชื่อเพื่อ SME เงินฝากและตั๋วแลกเงินจำนวน 134.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.7% จากสิ้นปี 2553 ซึ่งมีจำนวน 111.4 พันล้านบาท จากการขยายตัวของสินเชื่อและเงินฝากข้างต้น ทำให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 88.8% ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินเฉพาะธนาคารอยู่ที่ 87.2%
ในไตรมาส 4 ปี 2554 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ขยับสูงขึ้นอยู่ที่ 4.1 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ 3.4% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2553 อยู่ที่ 2.7% โดยมีสาเหตุหลักจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในลูกค้าเฉพาะกลุ่มซึ่งธนาคารได้ดำเนินการแก้ไขลูกหนี้รายดังกล่าวแล้วและผลกระทบที่เกิดจากการสถานการณ์อุทกภัยที่มีผลต่อการชำระหนี้ของลูกค้า
อัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 อยู่ที่ 81.6% ลดลงจากสิ้นปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ 91.4% เนื่องจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2554 ในขณะเดียวกัน ธนาคารมีส่วนเกินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 1,403 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับปี 2554 เปรียบเทียบกับปี 2553 เพิ่มขึ้นจำนวน 499.3 ล้านบาทหรือ10.4% สาเหตุส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายค่าภาษีอากร และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นจากขาดทุนจากสินทรัพย์รอการขาย ขณะที่ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์ ค่านายหน้าและค่าที่ปรึกษาลดลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานปี 2554 อยู่ที่ 68.5% ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2553 อยู่ที่ 75.8% จากส่วนแบ่งกำไรจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบสท. และกำไรจากการขายลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่ไม่มีหลักประกันให้บริษัทในเครือแห่งหนึ่ง
สำหรับเงินกองทุนของธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 ธันวาคม 2554 มีจำนวน 18,816.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง 13.00% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 7.65%