กรุงเทพฯ--19 ม.ค.--กรมควบคุมโรค
สธ.เผยแม้ไทยยังเสี่ยงต่อการระบาดของไข้หวัดนกอยู่ แต่ประชาชนอย่าตระหนก เพราะมีมาตรการเฝ้าระวังป้องกันอย่างเต็มที่ ทั้งการดำเนิน“โครงการการรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดนก” เพื่อเผยแพร่ความรู้ในการป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่ประชาชนและผู้ประกอบการค้าสัตว์ปีก การสำรวจคัดกรองและทำลายสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ และการเฝ้าระวังผู้ป่วยต้องสงสัยอาการคล้ายไข้หวัดนก ย้ำ!!ตรุษจีนปีนี้ประชาชนสามารถบริโภคเป็ด-ไก่ได้อย่างปลอดภัย
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเคยพบผู้ป่วยไข้หวัดนกในช่วงปี พ.ศ.2547-2549 จำนวน 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย และยังไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกหรือมีการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 มาจนถึงขณะนี้ แต่ประเทศไทยก็ยังมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกอยู่ เพราะมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ 1.จากข่าวพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และกัมพูชา นกอพยพที่หนีหนาวและบินผ่านประเทศดังกล่าวเข้ามายังประเทศไทยอาจนำเชื้อไข้หวัดนกเข้ามาด้วย 2.จากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทยจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสทุกชนิด
สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 23 มกราคมนี้ จะเป็นช่วงที่มีการชำแหละเป็ดไก่ออกจำหน่ายเป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการในการป้องกันไข้หวัดนกอย่างเต็มที่ ด้วยการมอบหมายให้กรมควบคุมโรคจัด“โครงการการรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดนก” โดยร่วมกับกรมอนามัย กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานเอกชนต่างๆ ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ในการป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่กลุ่มผู้ประกอบการค้าสัตว์ปีกต่างๆและประชาชนที่บริโภคเป็ดไก่ และยังได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ในการคัดกรองสัตว์ปีก รวมถึงการเก็บซากสัตว์ปีกไปตรวจสอบและทำลายหากพบเชื้อไข้หวัดนก และยังให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศทุกแห่งเฝ้าระวังป้องกันการเจ็บป่วยในคนโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ปอดอักเสบ ปอดบวม จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกสามารถบริโภคเป็ดไก่ได้ตามปกติ
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าแม้ประเทศไทยยังไม่พบมีการระบาดของไข้หวัดนก ช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนกและโรคต่างๆจึงขอแนะนำให้ประชาชนเลือกซื้อไก่และเป็ดจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน เนื้อไก่ หรือเป็ด ต้องสด ไม่มีจ้ำเลือด ส่วนไข่ไก่หรือไข่เป็ด ต้องไม่มีมูลสัตว์ติดมาด้วย ทั้งนี้ผู้บริโภคไก่และผลิตภัณฑ์จากไก่ สามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องปรุงให้สุกก่อนรับประทาน สำหรับไก่/เป็ดที่ประชาชนเตรียมไว้ใช้ในพิธีเซ่นไหว้ในช่วงตรุษจีน ที่มักนิยมต้มแบบไม่ให้สุกมากนัก ก่อนจะนำมารับประทาน ควรนำมาปรุงให้สุกอีกครั้งหนึ่ง และเพื่อความมั่นใจยิ่งขึ้นควรเลือกซื้อเป็ด ไก่ซึ่งผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ โดยสังเกตได้จากสายรัดขาสัตว์ปีก ที่ระบุข้อความและหมายเลขของกรมปศุสัตว์ ควรแยกเขียงสำหรับหั่นอาหารดิบ อาหารที่ปรุงสุกแล้ว หรือผักผลไม้โดยเฉพาะไม่ใช้เขียงเดียวกัน ขณะประกอบอาหารไม่ควรใช้มือที่เปื้อนมาจับต้องจมูก ตา และปาก และหมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจับต้องเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และเปลือกไข่ที่มีมูลสัตว์เปื้อน
สำหรับผู้บริโภคที่จะซื้อสัตว์ปีกมาชำแหละเองควรเลือกสถานที่ที่มีการติดป้าย “ตลาดสด น่าซื้อ” หรือ “ป้ายรับรองสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์สะอาด(เขียงสะอาด)” ที่ติดไว้หน้าร้านจำหน่าย ส่วนผู้ชำแหละไก่ ต้องไม่ซื้อไก่/เป็ดที่มีอาการผิดปกติมาชำแหละขาย ควรทำความสะอาดกรงและอุปกรณ์ให้สะอาดด้วยน้ำผงซักฟอกหลังเสร็จสิ้นการชำแหละไก่ และควรราดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเดือนละ 1-2 ครั้ง ดูแลระมัดระวังตนเองอย่างถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา รองเท้าบู๊ต และต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆ รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด และต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทุกครั้งหลังปฏิบัติภารกิจเสร็จ เสื้อผ้าชุดเดิม พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปากจมูก ถุงมือ แว่นตา ควรนำไปซักหรือล้างให้สะอาด และผึ่งกลางแดดให้แห้งสนิท ก่อนนำมาใช้อีกครั้ง
ทั้งนี้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองจากโรคไข้หวัดนกได้ หากมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องและปฏิบัติ ให้เป็นนิสัย ด้วยการล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือน้ำทันทีทุกครั้งหลังจับต้องสัตว์ปีก หลังไอ จาม หลังเข้าห้องน้ำและก่อนรับประทานอาหาร และถ้ามีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หรือหากสงสัยให้รีบแจ้ง อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิด มีอาการไข้ ปวดหัว หนาวสั่น เจ็บคอ ไอ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายผิดปกติ ภายใน 7 วัน ต้องรีบไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อ รบการตรวจรักษาทันที ถ้ามีข้อสงสัยหรือต้องสอบถามข้อมูลเรื่องโรคไข้หวัดนกหรือโรคอื่นๆ สามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว