กทม.พร้อมเดินหน้าแผนพัฒนากรุงเทพฯสู่เมืองน่าอยู่

ข่าวทั่วไป Tuesday March 1, 2005 14:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--กทม.
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 48 เวลา 09.00-16.00 น. กรุงเทพมหานครจัดสัมมนา เรื่อง “แผนพัฒนากรุงเทพมหานครสู่เมืองน่าอยู่” ที่โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ โดย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนา และมีผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยสำนัก และสำนักงานเขต รวมทั้งนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ร่วมสัมมนา เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการนำแผนการพัฒนากรุงเทพฯที่ได้บูรณาการไว้ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
แผนฯใหม่ไม่ซ้ำซ้อนปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักผังเมือง ได้ดำเนินโครงการบูรณาการแผนผังพัฒนาเขตเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง มาให้คำปรึกษา โดยการทำแผนผังพัฒนากรุงเทพฯเมืองน่าอยู่ อยู่บนพื้นฐานการมองอนาคตของเมืองที่จะเติบโตในระยะ 20 ปี ทั้งสภาพการ เปลี่ยนแปลงด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคมและประชากร ประกอบเข้ากับนโยบายระดับชาติ และนโยบายการพัฒนาเมืองทั้ง 7 ด้าน ของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คือ การจราจร สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การศึกษา คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนยุทธศาสตร์การพัฒนา ซึ่งได้จัดกลุ่มตามศักยภาพในการพัฒนาและสภาพภูมิศาสตร์ของ 50 พื้นที่เขต ออกเป็น 12 โซน ก่อนจะออกมาเป็นแผนงาน/โครงการพัฒนากลุ่มเขตและกิจกรรมที่สอดคล้องกับ ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่มีการจัดลำดับความสำคัญตามความจำเป็นเร่งด่วน ไม่ซ้ำซ้อนกันในการใช้งบประมาณ ทำให้สำนักและสำนักงานเขตที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนกรุงเทพฯ
เดินหน้าพัฒนาตามศักยภาพ 6 เขตพัฒนา
สำหรับผลการศึกษาการจัดทำแผนผังพัฒนาเขตเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้เสนอให้ กทม.พัฒนาเมืองโดยการส่งเสริมลักษณะเด่นตามศักยภาพของพื้นที่ทั้ง 12 โชน เป็น 6 กลุ่มเขตพัฒนา ประกอบด้วย
“เขตอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว” ในพื้นที่เขตกลุ่มรัตนโกสินทร์ และกลุ่มกรุงธนบุรี ด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งโบราณสถาน ย่านประวัติศาสตร์ และชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์เมือง แล้วใช้ประโยชน์จากคุณค่าเหล่านี้เป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว “เขตเศรษฐกิจของเมือง” ในพื้นที่เขตกลุ่มลุมพินี กลุ่มเจ้าพระยา กลุ่มวิภาวดี และกลุ่มตากสิน ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมเขตเศรษฐกิจศูนย์กลางเมืองย่านสีลม บางรัก และสาทร พัฒนาศูนย์พาณิชยกรรมรองบริเวณพระราม 3 และศูนย์พาณิชยกรรมรองบริเวณศูนย์คมนาคม 3 แห่ง คือ ศูนย์มักกะสัน ศูนย์พหลโยธิน และศูนย์คมนาคมกรุงเทพฯด้านใต้
“เขตที่อยู่อาศัย”ในพื้นที่เขตกลุ่มบูรพาและพระนครเหนือ ซึ่งมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสภาพแวดล้อมดี บริเวณย่านสายไหม และย่านสะพานสูง โครงการพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมืองสะพานใหม่ เพื่อเป็นแหล่งงาน ย่านการค้าและบริการสำหรับประชาชน และโครงการพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรมบางกะปิ ซึ่งจะเป็นย่านการค้าและบริการ จุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรทางบก ทางน้ำ และระบบขนส่งมวลชน “เขตชุมชนใหม่รองรับสนามบินสุวรรณภูมิ” ในพื้นที่เขตกลุ่มศรีนครินทร์ มีโครงการพัฒนาศูนย์ชุมชน ชานเมืองลาดกระบัง และ ศูนย์ชุมชนชานเมืองมีนบุรี ให้เป็นแหล่งงาน ที่อยู่อาศัย การค้าและบริการ และเป็นจุดกึ่งกลางเชื่อมระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ส่วนศูนย์พาณิชยกรรมชุมชนหัวตะเข้ ซึ่งเป็นย่านการค้าเก่าแก่จะได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูให้เป็นศูนย์พาณิชยกรรมชุมชนอีกย่านหนึ่ง เช่นเดียวกับศูนย์บริการชุมชนหลวงแพ่งที่จะให้บริการประชาชนในพื้นที่ชานเมืองโดยรอบ
“เมืองอุทยานนคร” ในพื้นกลุ่มสุวินทวงศ์และมหาสวัสดิ์ เป็นกลุ่มเขตชานเมืองซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม จะได้รับการพัฒนาพัฒนาสาธารณูปการชุมชน ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมพื้นที่การเกษตร ปรับปรุงย่านที่อยู่อาศัย และย่านพาณิชยกรรม ศูนย์ชานเมือง รวมทั้งพื้นที่โล่ง และสวนสาธารณะทุกแห่งและในอนาคตจะมีลักษณะเป็นเมืองอุทยานนคร เช่น ชุมชนหนองจอก คลองสามวา ทวีวัฒนา และชุมชนตลิ่งชัน
ส่วนที่เหลือจะคงสภาพของชุมชนเกษตร อีกทั้งมีศูนย์บริการชุมชน อีก 7 แห่ง “เขตควบคุมและรักษาสภาพแวดล้อม” ในพื้นที่เขตกลุ่มสนามชัย ซึ่งเป็นทั้งย่านที่อยู่อาศัย แหล่งโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่เกษตรที่มีทั้งเกษตรน้ำกร่อย และสวนผลไม้ ขณะเดียวก็ยังมีพื้นที่ป่าชายเลนยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ในย่านนี้จะทำให้เกิดศูนย์ชุมชนชานเมือง บางขุนเทียนขึ้น เพื่อเป็นแหล่งงาน ย่านการค้าและบริการ รวมทั้งศูนย์บริการชุมชนย่านการค้าและบริการ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการชุมชนวัดหัวกระบือ วัดประชาบำรุง วัดบางกระดี่ วัดบัวผัน และชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์
ทั้งนี้ คาดว่า กทม.จะต้องใช้งบประมาณในเบื้องต้น ประมาณ 60,000 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาตามโครงการต่างๆ ตามที่ได้แบ่งแผนผังการพัฒนาไว้ 6 เขตพัฒนาดังกล่าว โดยจะแบ่งการพัฒนาออกเป็นระยะ ๆ
ผู้ว่าฯกทม.ยืนยันกรุงเทพฯพร้อมจะเป็นเมืองน่าอยู่
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “กรุงเทพมหานครเมืองน่าอยู่” เพื่อแสดงถึงความพร้อมและทิศทางในการพัฒนาเมืองต่อจากนี้ไป โดยมีเป้าหมายการเป็นเมืองน่าอยู่ตามปฏิญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน คือ เมืองไม่ติดขัด ลดปัญหาจราจร เมืองสะอาด สวยงาม สิ่งแวดล้อมดี ผู้คนมีความสุข เมืองปลอดภัย อุ่นใจทุกครอบครัว เมืองน่าอยู่ ทุกคนมี คุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นเมืองแห่งโอกาส ทุกคนตั้งตัวและเติบโตได้ ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้าของการพัฒนาในด้านต่างๆ เป็นลำดับหลังจากที่ตนและคณะได้เข้ามาบริหารงานเป็นเวลา 6 เดือน และจะผลักดันให้เห็นผลอย่างชัดเจนและยั่งยืนยิ่งขึ้นเมื่อนำแผนผังพัฒนาเขตจากการบูรณาการนี้ไปใช้ โดยพื้นที่แรกที่สามารถเริ่มต้นได้ก่อน คือ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งในเดือน มี.ค. นี้ กทม. จะเชิญประชาชน ส.ก. ส.ข. และผู้เกี่ยวข้อง มาร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็นในการเข้าพัฒนาพื้นที่ ย่านถนนข้าวสาร บางลำพู ย่านท่าพระจันทร์ ถนนราชดำเนินกลาง เป็นต้น
นอกจากนี้ ในการสัมมนายังได้เชิญ นายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มาบรรยายในหัวข้อ “แผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและทิศทางการพัฒนาเมือง” จากนั้น นายพิชัย ไชยพจน์พานิช รองปลัดกรุงเทพมหานคร บรรยายเรื่อง “ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร” และการบรรยายของศ.ตรึงใจ บูรณสมภพ ที่ปรึกษา-ของผู้ว่าราชการกทม. เรื่อง “การนำนโยบายการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติ” ปิดท้ายด้วยหัวข้อ “แผนพัฒนากรุงเทพมหานครสู่เมืองน่าอยู่” โดย รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนายสมศักดิ์ เศรษฐนันท์ รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง และการอภิปรายแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ