เปิด 3 มุมมอง “ครูสอนดี” ผู้อุทิศตนเพื่อเด็ก จิตวิญญาณแห่งความเป็น “ครู” ที่ไม่เคยเลือนหาย

ข่าวทั่วไป Monday January 23, 2012 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--23 ม.ค.--ไอแอมพีอาร์ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดมุมมองครูจิตอาสาเพื่อเด็กเร่ร่อนและเด็กด้อยโอกาส ว่าที่ครูสอนดี ตามโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี ทั้งในระบบและนอกระบบ หวังกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นความคุณค่าและสำคัญของครู วรัทยา จันทรัตน์ หรือ “ครูเจี๊ยบ” ว่าทีครูสอนดีของเด็กเร่รอนและเด็กด้อยโอกาสจากชุมชนริมทางรถไฟในเขตเทศบาลเมืองนครราชสีมา ที่ทำงานเป็นครูอาสาดูแลเด็กเร่ร่อนมานานกว่า 7 ปี บอกเล่าถึงงานที่ทำว่าเปรียบเสมือนการเพาะปลูกต้นไม้หลากสายพันธุ์ ที่ต้องหมั่นเติมความรู้เป็นปุ๋ย รดน้ำด้วยความรัก และยังต้องช่วยประคับประคองให้ต้นไม้แต่ละต้นเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง “อยากให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีโอกาส ได้เรียนหนังสือ ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ในสังคม ไม่ต้องใช้ชีวิตเร่ร่อน เป็นขอทาน เก็บของเก่าขาย เด็กเร่ร่อนก็มีความสำคัญต่อสังคม ถ้าเขาได้รับการพัฒนา มีคนหยิบยื่นสิ่งดีๆ ให้ เขาก็จะมีโอกาสพัฒนาเป็นคนที่ดี เป็นคนที่มีค่าของสังคมได้” ด้านว่าที่ครูสอนดี เบญจมาภรณ์ ภูฆัง หรือ “ครูเบญ” จากโรงเรียนบ้านใหม่คลองอังวะ อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่ทุ่มเทการเติมเต็มความรู้ให้กับเด็กชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง ท่ามกลางความยากลำบากและความขาดแคลนในด้านต่างๆ อย่างไม่ย่อท้อ เพราะถือคติที่ว่าความลำบากต่างๆ ไม่ใช่ข้ออ้าง สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวของเราต่างหากว่าเราจะทำหรือไป “ในเมื่อเรารู้ว่าเขาขาดโอกาส แต่เราจะไม่ใช้ปัญหานี้มาเป็นอุปสรรคในการทำงาน ครูทุกคนที่นี่จะทำงานด้วยความมุ่งมั่น ใช้ความเสียสละมาก่อนเป็นอันดับแรก ต้องอุทิศเวลาทำงานโดยใช้เวลาที่นอกเหนือไปจากเวลาราชการ เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสและสิ่งดีๆเท่าเทียมกับเด็กไทยคนอื่นๆ” ไม่แตกต่างไปจาก ด.ต.สมศักดิ์ บุญรัตน์ หรือ “พ่อครู” ครูตำรวจข้างถนนของเด็กเร่ร่อนในพื้นที่กว่า 50 ชุมชนของกรุงเทพมหานคร ที่ถึงแม้ว่าอาชีพผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จะดูเหมือนว่าไม่สามารถเข้ากันได้กับพฤติกรรมของเด็กกลุ่มนี้ แต่เมื่อถอดเครื่องแบบสีกากีแล้วเดินเข้าหาหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และความเมตตา ช่องว่างระหว่างปัญหาก็ดูเหมือนว่าจะแคบลง “งานของครูจิตอาสาเป็นงานที่ท้าทายในการทำให้คนที่ไม่ดี ให้เป็นคนดีกลับสู่สังคม โดยทำให้เด็กเหล่านี้ได้รู้จักว่าสิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก จริงแล้วเด็กทุกคนมีพื้นฐานจิตใจที่ดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กมาจากการกระทำและสั่งสมของผู้ใหญ่ ดังนั้นแทนที่จะไปไล่จับโจร เรามาหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดดีกว่า เพราะเมื่อคุณภาพชีวิตคนดี สังคมก็จะดี” เหล่านี้เป็นทัศนะเพียงบางส่วนจากครูผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับทุนในโครงการ “ครูสอนดี” ของ สสค. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปฎิรูปค่านิยมของสังคมที่มีต่อครู ด้วยการเชิดชูยกย่อง และมอบรางวัลให้แก่ครูสอนดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ครูท้องถิ่นและครูทั้งประเทศ ที่สะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณของความเป็นครู ที่ไม่เคยเลือนหาย และจะถูกจุดประกายให้ส่องสว่างขึ้นมาอีกครั้งเมื่อสังคมตระหนัก เห็นคุณค่า และให้ความสำคัญกับ “ครู” ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น “ครูอาชีพ” แต่มีความเป็น “ครู” อยู่ในหัวใจอย่างแท้จริง. สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ