กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ก.ไอซีที
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า จากการศึกษาและประเมินผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนต่างๆ พบว่า ปัจจุบันได้เกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ ขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงสูงขึ้นและขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ แต่การจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศยังไม่ครอบคลุมรอบด้าน ขาดการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้เพื่อการพยากรณ์และการเตือนภัยของประเทศยังไม่ได้รับการพัฒนาให้ทันต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทำให้การพยากรณ์และการเตือนภัยขาดประสิทธิภาพเท่าที่ควร กระทรวงฯ จึงได้จัดทำแผนงานเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาคลังข้อมูล ด้านการเตือนภัย และด้านการพยากรณ์
ภายใต้แผนงานเตรียมความพร้อมฯ ทั้ง 3 ด้านนั้น กระทรวงฯ ได้มีการกำหนดแนวทางดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ โดยในด้านการพัฒนาคลังข้อมูลนั้น กระทรวงฯ จะได้มีการวางระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการเตรียมพร้อมแห่งชาติ โดยจัดทำแผนที่เชิงพื้นที่ความละเอียดสูงของพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และดินถล่ม รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูลภูมิประเทศ เพื่อให้มีการพัฒนาระบบข้อมูลการพยากรณ์การเตือนภัยที่น่าเชื่อถือ มีเอกภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น
ส่วนด้านการเตือนภัย กระทรวงฯ จะได้มีการจัดทำระบบตรวจวัดและรายงานข้อมูลเพื่อแจ้งเตือนภัย โดยจัดทำระบบเชื่อมโยงเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ ด้วยการบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความถูกต้องซึ่งได้จากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ข้อมูลแปลงที่ดินจากกรมที่ดิน ข้อมูลน้ำท่วมจากกรมชลประทาน ข้อมูลภาพเรดาร์แสดงพื้นที่น้ำท่วมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นต้น และนำมาใช้ร่วมกัน เพื่อใช้ส่งข้อมูลการเตือนภัยและเฝ้าระวังผ่านเครือข่ายไปยังประชาชนได้อย่างแม่นยำ และรวดเร็ว พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังจะมีการพัฒนาศักยภาพระบบสื่อสารโทรคมนาคมเฉพาะกิจในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจัดสร้างโครงข่ายสื่อสารสำรองให้หน่วยงานเฉพาะกิจใช้งานได้ในสภาวการณ์ที่โครงข่ายในเชิงพาณิชย์มีความเสียหายหรือมีความคับคั่งในการ ใช้งาน และใช้เป็นโครงข่ายสื่อสารสำหรับหน่วยงาน ทหาร ตำรวจ ในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น ภาคใต้ หากที่ต้องมีการปิดโครงข่ายในเชิงพาณิชย์เป็นการชั่วคราวขณะกู้ระเบิด เพื่อป้องกันการจุดระเบิดผ่านโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
สำหรับด้านการพยากรณ์ กระทรวงฯ จะได้ดำเนินการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและการพยากรณ์อากาศโดยติดตั้งและปรับปรุงเครือข่ายตรวจอากาศอัตโนมัติ ระบบการพยากรณ์ล่วงหน้า และระบบเครือข่ายเรดาร์ตรวจอากาศการพยากรณ์ปริมาณฝนให้มีความถูกต้องมากขึ้น สามารถแจ้งภัยจากสภาวะอากาศร้ายได้อย่างถูกต้องทั้งบริเวณและเวลาที่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา รวมทั้งสามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้มากกว่า 10 วัน และการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้
นอกจากนั้น กระทรวงฯ ยังจะมีการจัดทำโครงการการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการจัดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นสาเหตุของการเกิดปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมา พร้อมทั้งวิธีการแก้ไขปัญหา/ อุปสรรค รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินโคลนถล่มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และแนวทางการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาพรวมอย่างเป็นระบบ