กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--ซีเกท เทคโนโลยี
นักพัฒนารถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับเตรียมเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ศกนี้
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ร่วมกันประกาศรายชื่อ 15 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ ที่ผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก ในการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นครั้งที่สอง หลังจากการขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น
ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับทั้ง15 ทีม ได้รับเงินรางวัล ทีมละ 20,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถจักรยานหุ่นยนต์เพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศของการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่สอง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ศกนี้
การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่สอง เป็นการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีระดับนานาชาติที่สนับสนุนโดยบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและวิศวกรรมควบคุม ซึ่งได้จัดติดต่อกันมาเป็นปีที่ 2 แล้ว การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ได้กลายเป็นเวทีสำคัญของเยาวชนที่จะได้แสดงศักยภาพของตนเอง
ในการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันต้องออกแบบและพัฒนาจักรยานที่มีความสามารถในการรักษาสมดุลแบบสองล้อหน้าหลังได้ด้วยตัวเองโดยไม่ล้มไปด้านข้าง และสามารถวิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ ทีมที่สามารถวิ่งได้ระยะทางยาวที่สุดและเร็วที่สุดโดยอัตโนมัติจะเป็นผู้ชนะ
15 ทีมรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศได้แก่
1. ทีมไอราป_อินดี้ (iRAP_Indy) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
2. ทีมเมคา ไบค์ (MECHA BIKE) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย
3. ทีมเอสทีอาร์ไอ (STRI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
4. ทีมไอราป_ฟรีดอม (iRAP_Freedom) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
5. ทีมเอยู ยู้ฮู ยู้ฮู (AU UHU UHU) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
6. ทีมอันบาลานซ์ (Unbalanced) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
7. ทีมเทอรา-ไบค์ (Tera-Bike) สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย
8. ทีมเรียล (Real) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
9. ทีมไมโคร โรบ็อต (Micro Robot) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
10. ทีมเทสล่า เอ็กซ์94 (Tesla x94) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
11. ทีมเอ็นยู-สตาร์ (NU-STAR) มหาวิทยาลัยนเรศวร
12. ทีมข้าวหอมมะลิ วิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด
13. ทีมดั๊ค ไรเดอร์ ทู (Duck Rider II) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
14. ทีมแคสเปอร์ ไรเดอร์ (Casper Rider) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
15. ทีมเอสเอ็ม (SM) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
“การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่สองในประเทศไทยและครั้งที่สองในโลกนี้ นับเป็นการแข่งขันทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และหุ่นยนต์ชั้นนำของโลก โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเยาวชนจากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ทั่วประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความคิดเชิงสร้างสรรค์ร่วมกันของคนรุ่นใหม่” ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าว
นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย ฝ่ายปฏิบัติการประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกทมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนิสิต นักศึกษาไทย ในการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นอีกครั้งในปีนี้ เราเชื่อว่าการแข่งขันนี้จะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของนักศึกษาไทยให้พร้อมสำหรับการทำงาน และเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศไทยในอนาคต”
ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน บริษัทซีเกทได้เตรียมรางวัลเงินสดต่าง ๆ สำหรับผู้ชนะการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ ดังนึ้คือ รางวัลชนะเลิศ 150,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 100,000 บาท รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม 50,000 บาท และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ 50,000 บาท 15 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับได้รับเงินรางวัลทีมละ 20,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถจักรยานหุ่นยนต์เพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า “ที่ผ่านมา ผลงานของเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราภาคภูมิใจที่ได้เห็นพวกเขาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ และมั่นใจว่าเยาวชนเหล่านี้จะได้รับประสบการณ์ที่มีค่าจากการทุ่มเทแรงกาย แรงใจสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งนี้ เอไอทีต้องการเห็นเยาวชนสนใจศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์มากขึ้น และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับนี้ จะก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาทักษะของนิสิต นักศึกษาต่อไปในระยะยาว”
ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูล ท่านสามารถพบข้อมูลเกี่ยวกับซีเกทได้ที่ http://www.seagate.com
ภาพประกอบ
Picture 1 รถจักรยานยนต์ไร้คนบังคับ ทีมไอราป_อินดี้ (iRAP_Indy) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ขณะกำลังเคลื่อนที่ไปบนสนามแข่งขัน ทีมนี้ทำคะแนนรวม 545.33 ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุด ในการแข่งขันรอบคัดเลือก
Picture 2 รถจักรยานยนต์ไร้คนบังคับ ทีมเมคา ไบค์ (MECHA BIKE) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ขณะกำลังสร้างสมดุลในตัวเองโดยไม่ให้ล้มไปด้านข้าง ขณะกำลังเคลื่อนที่ไปบนเส้นทางการแข่งขัน ด้วยคะแนนรวม 372.39 ทีม เมคา ไบค์ มีคะแนนสูงเป็นอันดับสอง ในการแข่งขันรอบคัดเลือก
Picture 3 ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวเปิดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ ชิงแชมป์ประเทศไทย รอบคัดเลือก
Picture 4 รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) (ซ้ายสุด) กล่าวถึงที่มาของการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย
Picture 5 น้อง ๆ เตรียมความพร้อมของรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ ก่อนเข้าแข่งขัน
Picture 6 รถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับที่พัฒนาโดยทีมเอสทีอาร์ไอ (STRI) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ขณะกำลังเคลื่อนที่ไปบนสนามแข่งขัน ซึ่งทำคะแนนรวมเป็นอันดับสาม ในการแข่งขันรอบคัดเลือก
Picture 7 คณะผู้จัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ถ่ายภาพร่วมกับนิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขัน การจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่สองในประเทศไทยและครั้งที่สองในโลกนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) และบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยซีเกทได้มอบเงินงบประมาณ จำนวน 1.7 ล้านบาท เพื่อการจัดการแข่งขันและเงินรางวัลสำหรับทีมต่างๆ
Picture 8 นักศึกษาเตรียมความพร้อมของรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ ที่จุดสตาร์ตก่อนเริ่มการแข่งขัน