กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงรางวัล The most Outstanding Telecentre Women Manager in Asia-Pacific 2011 ว่า กระทรวงฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิ telecentre.org ดำเนินโครงการ "พัฒนาศักยภาพด้าน ICT ผ่านศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสำหรับผู้หญิง" เพื่อส่งเสริมการรู้เท่าทันและการใช้ประโยชน์ในกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่น โดยการส่งเสริมให้ผู้หญิงกลุ่มนี้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองผ่านการใช้สื่อ ICT บนฐานแนวคิดตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น กลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในสังคมเกษตรกรรมสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตได้ โดยผ่านการเข้าถึงข้อมูลทางการตลาดของสินค้าเกษตร หรือกลุ่มผู้หญิงที่รับงานไปทำที่บ้านสามารถสร้างสินค้าและจำหน่ายจนสร้างรายได้ให้กับตนเองรวมถึงครอบครัว และทำให้กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้สามารถเป็นผู้หารายได้เสริมให้กับครอบครัวได้ เป็นต้น
ในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพฯ ทางมูลนิธิ Telecentre.org จะทำการเฟ้นหาสตรีที่เป็นผู้นำการใช้สื่อ ICT ผ่านศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ซึ่งคุณลักษณะที่เข้าเกณฑ์ตามโครงการฯ ก็คือ ต้องเป็นผู้หญิงที่เป็นผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่มีความรู้ในการสนับสนุนการให้บริการของศูนย์ฯ ได้ รวมทั้งเสริมสร้างกำลังใจให้กับชุมชนในด้านการพัฒนา การรักษาทรัพยากร การส่งเสริมให้ชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทั้งภายในและภายนอกชุมชน เพื่อให้การดำเนินงานของศูนย์ฯ มีความยั่งยืน หรือต้องเป็นสมาชิกชุมชนที่ใช้บริการของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน และได้รับการฝึกอบรมจนมีความรู้ความสามารถ ในการใช้งานสื่อ ICT มายกระดับคุณภาพชีวิตให้กับตัวเอง โดยเฉพาะการสร้างรายได้ และการพัฒนาอาชีพ
โดยมูลนิธิ Telecentre.org ได้ทำการคัดเลือกสตรีไทยที่มีคุณลักษณะตามเกณฑ์ดังกล่าว พร้อมส่งผลงานของผู้หญิงเหล่านั้นเข้าร่วมโครงการฯ ในระดับสากล คือ The Most Outstanding Telecentre Woman Manager 2011 ซึ่ง นางสายหยุด พูลสวัสดิ์ ผู้หญิงที่รับงานมาทำที่บ้านจาก จ.สมุทรปราการ สามารถชนะการประกวดโดยได้รับผลการโหวตสูงสุดจาก Telecentre.org ในภาคพื้นเอเชีย — แปซิฟิค และได้รับตำแหน่งผู้หญิงที่มีความโดดเด่นที่สุดในระดับ Asia Pacific Telecentre.org Network นอกจากนั้นยังมีผู้หญิงไทยที่มีผลงานน่าสนใจและได้รับการโหวตติดอันดับ 1 ใน 100 อีก 2 คน คือ น.ส.พรทิพย์ กลมดี ครูผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน จาก จ.สุโขทัย และนางกัลยา ขาวโสม ผู้หญิงที่รับงานมาทำที่บ้านจาก จ.ลำพูน
โครงการพัฒนาศักยภาพฯ นี้ ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “โอกาสการเข้าถึงสื่อ ICT จะช่วยลดปัญหาความยากจนให้กับประชาชนระดับรากหญ้าได้” จึงนับเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่นกว่า 2,000 แห่งที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน โดยการส่งเสริมให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในการใช้งานสื่อ ICT จนเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และสามารถสนับสนุนผู้หญิงคนอื่นให้ประสบความสำเร็จได้เช่นตนเอง รวมทั้งเสริมพลังแก่กลุ่มผู้หญิงในชุมชนท้องถิ่นให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนในฐานะผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ฯ หรือผู้เชี่ยวชาญการใช้สื่อ ICT ในชุมชนท้องถิ่นที่สามารถนำประโยชน์จาก ICT ในด้านต่างๆ มาพัฒนาตนเอง ครอบครัว และชุมชน
ความสำเร็จของโครงการดังกล่าว ก็คือ การส่งเสริมให้กลุ่มผู้หญิงในชุมชนท้องถิ่นได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากการใช้สื่อ ICT เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสามารถที่จะพัฒนาตนเองสู่ระดับสากล โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมสู่การเปิดเสรีอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ โดยมีการสร้างหลักสูตรเฉพาะเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานด้วยสื่อ ICT สำหรับผู้หญิงในชุมชน ตลอดจนมีการขยายความร่วมมือของเครือข่ายต่างๆ จากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐด้วยกันเอง ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศและองค์กรระดับท้องถิ่น เพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนมีบทบาทในการเสริมพลังชุมชนตามเป้าหมายแห่งสหัสวรรษของสหประชาชาติบนฐานของความพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างยั่งยืนร่วมกันต่อไป