กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--4P News and Art
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่านโยบายการควบคุมและยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทย(The National Malaria Control and Elimination Program of Thailand) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์โรคมาลาเรียปี 2555 — 2563 เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการพัฒนางานสาธารณสุขเพื่อเร่งรัดมาตรการสร้างสุขภาพ ลดอัตราการป่วย และตายจากโรคมาลาเรีย มีเป้าหมายภายในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2554-2563) ต้องสามารถยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียอย่างถาวร ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 80 ของประเทศ เริ่มเป้าหมายแรกภายในสิ้นปี 2559 และจะเพิ่มพื้นที่ยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อป้องกันการกลับมาแพร่ระบาดใหม่และลดอัตราป่วยให้เหลือไม่เกิน 0.2 ต่อประชากร 1,000 คน ลดอัตราตายให้เหลือไม่เกิน 0.05 ต่อประชากร 100,000 คน
โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทในการควบคุมป้องกันการแพร่โรคมาลาเรีย ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่แพร่โรคมีและใช้วัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงนำเชื้อมาลาเรียกัด ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรียในพื้นที่ที่มียุงเป็นพาหะอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักให้กับประชาชนในการป้องกันโรคมาลาเรีย
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคมาลาเรียในประเทศไทยมีระบบการเฝ้าระวังยับยั้งการแพร่ระบาดและเชื้อดื้อยาที่ดีและมีการจัดบริการเชิงรุก ตั้งศูนย์มาลาเรียหรือมาลาเรียคลินิก ตรวจเชื้อและรักษาฟรีให้แก่ผู้ป่วยในชุมชนและหมู่บ้านต่างๆในพื้นที่จังหวัดตามแนวชายแดน เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เน้นการรักษาที่รวดเร็ว ช่วยลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต เพื่อลดจำนวนแหล่งแพร่เชื้อให้ได้มากที่สุด เน้นประชาชนทุกกลุ่มอายุ ทั้งที่มีบ้านพักอาศัยในพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่เชื้อและในพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อสูงซึ่งอยู่ตามชายแดน ได้แก่ กลุ่มคนที่มีการเคลื่อนย้าย กลุ่มคนที่มีอาชีพสัมพันธ์กับป่า แรงงานต่างชาติ มีการให้บริการทั้งคนไทยและต่างชาติ ประสานความร่วมมือที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และพม่า ในการทำงานด้านการป้องกันโรคมาลาเรีย เพื่อให้อัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ลดลง
ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคมาลาเรียได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากตัวเลขผู้ป่วยโรคมาลาเรียในปี 2553 ที่มีจำนวนผู้ป่วยมาลาเรียทั้งหมดถึง 45,629 ราย แยกเป็นชาวไทย18,371 รายและชาวต่างชาติ 27,257 รายในขณะที่ปี 2554 มีจำนวนทั้งหมด 29,025 ราย เป็นชาวไทย 11,013 รายและชาวต่างชาติ 18,012 ราย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปี 2553 กับปี 2554 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ป่วยมาลาเรียมีจำนวนลดลงถึง16,604 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.38 และคาดว่าในปี 2558 ซึ่ง
เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งไทยจะมีความเข้มแข็งในด้านการควบคุมป้องกันโรคมาลาเรียได้อย่างยั่งยืน
นายแพทย์พรเทพ กล่าวต่อว่า จากความสำเร็จในการป้องกันควบคุมโรคมาลาเรียของประเทศไทย อีกทั้งไทยยังมีสภาพภูมิศาสตร์แบบเขตร้อนที่คล้ายคลึงกับแอฟริกา จึงสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการป้องกันควบคุมโรคมาลาเรีย ให้กลุ่มแพทย์และนักวิชาการด้านสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี และทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลญี่ปุ่นโดยJapan International Cooperation Agency (JICA)อนุมัติให้ดำเนิน“โครงการอบรมหลักสูตรการป้องกันและควบคุมโรคมาลาเรียสำหรับบุคลากรจากประเทศในภูมิภาคแอฟริกา”(International Training Course on Malaria Prevention and Control for Africa)ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 — 2555 ของญี่ปุ่น (ต่อเนื่องกัน 3 ปี)และได้มีการลงนามในเอกสาร Record of Discussions (R/D) หลักสูตร Third Country Training Program on Malaria Prevention and Control for Africa ภายใต้ความร่วมมือหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาไทย - ญี่ปุ่น โดยผู้บริหารสูงสุดจาก 3 ฝ่าย คือ JICA, TICA และกรมควบคุมโรค ซึ่งครั้งแรกได้ดำเนินการจัดการอบรมไปแล้วเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์— 4 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์อบรมโรคติดต่อนำโดยแมลง พระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทั้ง JICA และ TICA มีกลุ่มแพทย์ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตัวแทนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแอฟริกา จาก 8 ประเทศได้แก่ บูร์กินาฟาโซ, แกมเบีย, เคนยา, มาลี, โมซัมบิก, เซเนกัล, ซิมบับเวและไทย มีจำนวนผู้ที่เข้ารับการอบรมรวม 21 คน
สำหรับปีนี้เป็นครั้งที่สองของการดำเนินโครงการฯ โดยได้กำหนดให้มีการจัดการอบรมขึ้นระหว่างวันที่ 23 มกราคม — 17 กุมภาพันธ์ 2555 รวมระยะเวลา 4 สัปดาห์ การอบรมครั้งนี้จะมีทั้งภาคทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติภาคสนาม มีผู้เข้ารับการอบรมจาก 7 ประเทศ ได้แก่ กินี, บูร์กินาฟาโซ, เคนยา, เซเนเกิล โมซัมบิก โกตดิวัวร์และไทย มีจำนวนผู้ที่เข้ารับการอบรมรวม 18 คน ผู้ที่เข้ารับการอบรมครั้งนี้จะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ ไปปรับใช้ในการควบคุมและยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพนายแพทย์พรเทพ กล่าวปิดท้าย
ด้านนายแพทย์วิชัย สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงได้ให้ความรู้เพื่อกันป้องกันโรคมาลาเรียว่าหลังจากกลับไปเที่ยวป่ามาประมาณ 10-14 วัน แล้วมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก และอาจรู้สึกดีขึ้นแล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง หากพบอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบเพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว เพราะหากช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยประชาชนสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 0 2590 3333
กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์: 0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386