มกอช.หนุนรับรองสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ข่าวทั่วไป Tuesday January 24, 2012 09:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--มกอช. มกอช.พร้อมรับรองระบบงานแก่หน่วยรับรองด้าน “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” จับมือ กรมทรัพย์สินทางปัญญา-สมอ.หนุนสินค้าคุณภาพ-มีชื่อเสียงของท้องถิ่นตีตลาด ทั้งในและต่างประเทศ ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indications : GI) เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า ปี 2555 นี้ มกอช.จึงมีแผนขยายขอบข่ายเปิดให้การรับรองระบบงานแก่หน่วยรับรองด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดย มกอช.จะลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อร่วมบูรณาการพัฒนาศักยภาพ ในการให้การรับรองระบบงานแก่หน่วยรับรองด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทย ซึ่งจะช่วยยกระดับความเชื่อมั่นในผลการรับรองมาตรฐานสินค้า (GI) ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนหลายชนิด ซึ่งมีสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์รวมอยู่ด้วย อาทิ ส้มโอนครชัยศรี ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท สับปะรดศรีราชา สับปะรดภูเก็ต สับปะรดนางแล สับปะรดภูแลเชียงราย ชมพู่เพชร มะขามหวานเพชรบูรณ์ กล้วยหินบันนังสตา ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง ไวน์ที่ราบสูงภูเรือ ไข่เค็มไชยา หมูย่างเมืองตรัง หอยนางรมสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ ยังมีสินค้าทำด้วยมือ (Handmade) ด้วย เช่น ร่มบ่อสร้าง เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง ศิลาดลเชียงใหม่ ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท ผ้าไหมยกดอกลำพูน ผ้าตีนจกแม่แจ่ม ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ เครื่องจักสาน พนัสนิคม เป็นต้น “ประโยชน์ของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียน นอกจากจะเป็นการคุ้มครองทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นเครื่องมือพัฒนาศักยภาพการตลาดและช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งถือเป็นช่องทางเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและเป็นเครื่องมือรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย นอกจากนี้ EU ยังมีข้อแนะนำว่า หน่วยงานที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรองระบบงานแก่หน่วยตรวจรับเอง ขอบข่ายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศควรต้องเป็นหน่วยรับรองระบบงานของประเทศนั้นๆ ที่ได้รับการรับรองระบบงานด้านผลิตภัณฑ์ (Product Certification) ตามมาตรฐาน ISO/IEC Guide 65” นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าว สำหรับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นผู้กำกับดูแล (Competence Authority : CA) อย่างไรก็ตาม มกอช.ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับจาก (International Accreditation Forum : IAF) ด้าน Product Certification ในนามของคณะกรรมการการมาตรฐานแห่งชาติ (กมช.) ซึ่งปัจจุบันมีการรับรองระบบงานขอบข่ายเกษตรอินทรีย์ และ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices : GAP) โดยขณะนี้ มกอช. อยู่ระหว่างพัฒนาระบบงาน ของตนเองเพื่อขยายขอบข่ายการรับรองให้ครอบคลุมถึงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อีกด้วย คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ก่อนสิ้นปี 2555 ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และช่วยพัฒนาศักยภาพสินค้า GI ของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก อย่างดี ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ได้ให้ความหมายของ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไว้ว่า หมายถึง ชื่อ “สัญลักษณ์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และที่สามารถบ่งบอกได้ว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว” ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายที่จะให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า โดยกำหนดให้การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ต้องยื่นคำขอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ