กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--ก.ไอซีที
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน ครั้งที่ 1/2555 ว่า ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2554-2558 ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมกันพัฒนาระบบสถิติของประเทศ โดยอาศัยองค์ความรู้ และเครือข่ายผู้ดำเนินการด้านสถิติที่ปฏิบัติงานร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลสถิติในการตัดสินใจ และการดำเนินนโยบายบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริงของทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการผลิตข้อมูล/ สถิติที่ดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทำให้ข้อมูลมีความซ้ำซ้อน หลายมาตรฐาน และยากต่อการบูรณาการเชื่อมโยงสถิติที่หน่วยงานต่างๆ ผลิตให้เป็นชุดข้อมูลที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์และการบริหารให้กับผู้บริหารในระดับต่างๆ ทั้งประเทศ จังหวัด และท้องถิ่น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดระบบสถิติเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการผลิต บูรณาการ และเชื่อมโยงข้อมูล/ สถิติในทุกสาขา ให้สามารถนำชุดข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจได้จริง นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคุณภาพการผลิตข้อมูลสถิติให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอีกด้วย
ดังนั้น กระทรวงฯ จึงได้ตั้งคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านทรัพยากรธรรมชาติ ขึ้น เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านสถิติของประเทศ รวมทั้งกำกับ ติดตามการดำเนินงานด้านสถิติของประเทศให้ เป็นไปตามแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พร้อมรายงานความก้าวหน้าตามแผนแม่บทฯ และเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบสถิติต่อคณะรัฐมนตรี โดยผ่านสำนักงานสถิติแห่งชาติ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กำหนดนโยบายเกี่ยวกับงบประมาณ และการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทฯ ตลอดจนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธาน และสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นเลขานุการ
สำหรับการจัดระบบสถิติของประเทศไทยนั้นมีองค์ประกอบสำคัญ คือ 1) ผังสถิติทางการ สาขาต่างๆ เช่น สาขาอุตสาหกรรม สาขารายได้ - รายจ่าย สาขาแรงงาน สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะสนับสนุนผู้บริหารระดับประเทศ จังหวัด และท้องถิ่นในการกำหนดและดำเนินงานตามนโยบาย 2) ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์การพัฒนา และต้องการชุดข้อมูลสถิติหลากหลายสาขามาสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารทั้งสามระดับ 3) การพัฒนาทักษะผู้ผลิตและผู้ใช้สถิติทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการนำสถิติมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนและตัดสินใจบนฐานข้อมูล
ส่วนการประชุมคณะกรรมการจัดระบบสถิติ 3 ด้านของประเทศครั้งนี้มีสาระสำคัญ คือ การศึกษานโยบายและยุทธศาสตร์ระดับประเทศและสาขาต่างๆ รวมทั้งได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อระบุประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องการการพัฒนาข้อมูลสถิติเป็นลำดับต้นๆ นอกจากนั้นยังได้มีการตรวจสอบข้อมูลสถิติที่หน่วยงานต่างๆ ได้ผลิตในปัจจุบัน เพื่อนำไปสู่การกำหนด “เจ้าภาพสถิติสาขาต่างๆ” ตลอดจนได้ศึกษามาตรฐานคุณภาพสถิติและแนวทางการพัฒนาสถิติแต่ละประเภทอีกด้วย การประชุมครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนงานในระดับสาขาและระดับพื้นที่ต่อไป