รวมกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านยกระดับผู้ประกอบการ/สร้างมาตรฐานให้ผู้บริโภค

ข่าวทั่วไป Friday March 12, 2004 15:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--โอเอซิส มีเดีย
ธุรกิจรับสร้างบ้าน ถือกำเนิดมากว่า 40 ปี โดย บ.ซีคอน จก. ผู้นำแห่งวงการรับสร้างบ้าน และต่อมาก็มีผู้ประกอบการเข้ามาในธุรกิจรับสร้างบ้านอีกหลายราย ที่สามารถปักธงแข่งขันแชร์ตลาดรับสร้างบ้านกันมายาวนานต่อเนื่อง ตามลำดับประสบการณ์ 10 - 20 ปี อาทิ โฟร์พัฒนา โรแยลเฮาส์ แลนดี้ โฮม ปทุมดีไซน์ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงมาตลอดสำหรับผู้ที่เคยใช้บริการ แต่พบว่ายังมีผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายอีกไม่น้อยกว่า 50 % กลับไม่รู้จักธุรกิจรับสร้างบ้านหรือเข้าใจผิดว่าเป็นโครงการบ้านจัดสรร วันนี้จึงเป็นที่มาของการร่วมมือกันของกลุ่มผู้ประกอบการ จัดตั้งชมรมหรือสมาคมรับสร้างบ้าน เพื่อพัฒนาศักยภาพของธุรกิจรับสร้างบ้าน หวังรุกประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อขยายฐานลูกค้าและสร้างความนิยมจากผู้บริโภคยิ่งขึ้น
จากการรวบรวมข้อมูลและสถิติของฝ่ายการตลาด บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด พบว่า บริษัทรับสร้างบ้านและผู้รับเหมาสร้างบ้านรายย่อย ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจประมาณปี 2536 - 2539 มีมูลค่าธุรกิจสร้างบ้านรวมเฉลี่ยต่อปีประมาณ 30,000 ล้านบาท และต่อมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กลุ่มธุรกิจนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ยังมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถแปรวิกฤติเป็นโอกาสได้สำเร็จ จนทำให้ตลาดรับสร้างบ้านยังมีมูลค่าธุรกิจต่อปีเฉลี่ยประมาณเกือบ 20,000 ล้านบาทต่อปี นั่นคือกลุ่มผู้ประกอบการ บริษัทรับสร้างบ้านและผู้รับเหมาสร้างบ้านรายย่อย และได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคนับได้ว่ากลุ่มธุรกิจนี้มีผลต่ออุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง ซึ่งในเวลานั้นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างจึงต้องหันมาให้ความสำคัญ ในการวางสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดกลุ่มนี้ เช่น ผู้ผลิตและจำหน่ายคอนกรีตผสมเสร็จ ที่ปรับตัวโดยสั่งซื้อเพียง 1 - 2 คิวก็มีบริการจัดส่งให้ผู้ซื้อ ฯลฯ ถึงแม้ว่าจะยุ่งยากอยู่บ้างเนื่องจากแหล่งส่งสินค้าอาจจะกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่กรุงเทพปริมณฑล ตามลักษณะของลูกค้าบริษัทรับสร้างบ้าน แต่คำสั่งซื้อก็มากพอจะมาชดเชยกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ หดหายไป ภายหลังจากภาคอสังหาริมทรัพย์หยุดชะงักลง พร้อมๆกับความเสียหายทั่วทั้งวงการก่อสร้าง
จุดเด่นของธุรกิจรับสร้างบ้าน คือลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการเป็นกลุ่มที่ถือว่ามีคุณภาพ หรือส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะและวินัยทางการเงินดี เพราะเมื่อพิจารณาดูถึงประวัติลูกค้าจะพบว่าการมีบ้านของลูกค้ากลุ่มนี้ จะเริ่มจากการออมเงินเพื่อซื้อที่ดินเปล่าเก็บไว้ก่อน หรือซื้อที่ดินเปล่าด้วยการผ่อนชำระกับสถาบันการเงิน หรือเจ้าของที่ดินมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ต่อมาก็จะออมเงินสร้างบ้านหรือขอกู้เงินกับสถาบันการเงินเพื่อมาสร้างบ้าน พฤติกรรมของผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีการออมเงิน หรือเคยเป็นลูกค้าของสถาบันการเงินก่อนที่จะมาลงทุนสร้างบ้าน ดังนั้นโอกาสที่ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหรือสถาบันการเงิน จะมีอัตราความเสี่ยงหรือเกิดหนี้สูญจึงมีอยู่น้อยมาก
ปัจจุบันเฉพาะตลาด "รับสร้างบ้าน" ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องทุกปี 10 - 30 % ตามความต้องการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมทั้งสามารถแชร์ส่วนแบ่งตลาดมาจากผู้รับเหมารายย่อยได้มากขึ้นกว่าอดีต ซึ่งนับว่ามีการเติบโตที่แน่นอนและสม่ำเสมอ เพียงแต่ไม่หวือหวานักเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอสังหาฯในช่วง 2 - 3 ปีนี้ ที่สามารถเติบโตได้เป็นหลายเท่าตัวเมื่อตลาดมีความต้องการสูง ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านก็มีจุดอ่อนอยู่เช่นกันคือ "ต่างคน ต่างทำ" แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวมากเพียงใด แต่ศักยภาพในการรับงานของบริษัทรับสร้างบ้านแต่ละรายก็จะมีข้อจำกัดเช่นกัน โดยไม่สามารถรับงานได้มากเกินไปเพราะจะเกิดปัญหาไม่สามารถส่งมอบงานได้ทัน
จากการประเมินตัวเลขยอดขายของบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำที่ผ่านมาในรอบ 1 - 2 ปี ระบุว่าบริษัทรับสร้างบ้านที่มีศักยภาพสูง (กลุ่ม Top 10) สามารถรับงานสร้างบ้านได้สูงสุดประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี เพราะหากรับงานมากกว่านั้นจะเกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ ในขณะที่บริษัทขนาดกลางที่มีอยู่ประมาณ 30 - 50 บริษัท เฉลี่ยรับงานสร้างบ้านประมาณปีละ 30 - 100 ล้านบาทเท่านั้น นอกนั้นเป็นบริษัทขนาดเล็กประมาณกว่า 100 บริษัท ที่สามารถรับงานได้ประมาณ 10 - 30 ล้านบาท
ดังนั้นเมื่อตลาดเติบโตขึ้นก็จะมี ผู้ประกอบการรายใหม่ๆเข้ามาจำนวนมากเพื่อขอแชร์ตลาด ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการมืออาชีพและมือสมัครเล่น ทำให้บางครั้งเกิดปัญหาขึ้นกับผู้บริโภคและชื่อเสียงของตลาดรับสร้างบ้าน หรือบางครั้งก็มีผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีแข่งขันที่ไม่สร้างสรรค์ เช่น การโจมตีให้ร้ายระหว่างกันหรือกล่าวหากัน เพื่อกล่าวหาคู่แข่งขันระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้รับเหมารายย่อยกับบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำบางราย ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดและเกิดความสับสน จึงลังเลที่จะตัดสินใจเลือกใช้บริการรับสร้างบ้านดีหรือไม่ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงนั้นทั้ง 2 กลุ่มคือผู้ประกอบอาชีพเดียวกัน
ความไม่เข้าใจลักษณะของธุรกิจรับสร้างบ้านของผู้บริโภค เป็นโจทย์สำคัญ ที่ผู้ประกอบการจะต้องรวมตัวกันและมุ่งสร้างความรู้เกี่ยวกับลักษณะของสินค้าและบริการว่ามีจุดเด่นอย่างไร หรือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับราคาของสินค้าและบริการที่ถูกต้อง ความคุ้มค่าของเงินลงทุนสำหรับการสร้างบ้าน อายุการใช้งานและการคงสภาพของบ้านว่ามีอายุยาวนานเท่าไร ประโยชน์ที่ได้รับและความแตกต่างกับการซื้อบ้านจัดสรรทั่วไป รวมทั้งจะแยกการรับรู้และสร้างแบรนด์รับสร้างบ้านขึ้นมาเป็นอีก 1 ทางเลือกของผู้บริโภคในการมีที่อยู่อาศัย นอกจากบ้านจัดสรร และบ้านมือสอง
รวมตัวกลุ่มรับสร้างบ้านเพิ่มความเข้มแข็ง
นายสิทธิพร สุวรรณสุต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมายังไม่เคยมีความร่วมมือระหว่างกันของผู้ประกอบการ ที่จะทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งและประสานประโยชน์ร่วมกัน หรือแบ่งกลุ่มของสินค้าและบริการให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจและเลือกใช้บริการให้ตรงตามความต้องการ การสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการให้แก่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ - รายเล็ก เพื่อนำไปใช้ร่วมกัน
ในการทำตลาดให้เติบโตและเกิดความมั่นคงยั่งยืน เช่น การนำกลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านร่วมมือกับผู้พัฒนาที่ต้องการผู้ประกอบการมืออาชีพมาก่อสร้างบ้านให้ในโครงการจัดสรร หรือการกำหนดกติกาของผู้ประกอบการที่เข้ามาในธุรกิจรับสร้างบ้าน เพื่อสร้างมาตรฐานในวิชาชีพให้สามารถประกอบอาชีพอยู่ร่วมกันได้ทั้งรายเล็ก - รายใหญ่ และเพื่อป้องกันการ หลอกลวงผู้บริโภค ฯลฯ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดประโยชน์แก่ธุรกิจโดยรวมมากกว่าการแข่งขันด้วยวิธีโจมตีให้ร้ายกันเองแบบเดิมๆ หรือใช้วิธีการตัดราคากันจนทำให้คุณภาพงานต่ำลง ทั้งนี้การที่ผู้นำธุรกิจอย่าง บ.ซีคอน บ.โฟร์พัฒนา บ.โรแยล เฮาส์ บ.แลนดี้ โฮม ฯลฯ ออกมาแสดงความเป็นผู้นำและนำไปสู่ความร่วมมือของผู้ประกอบการที่มีอยู่ในตลาด นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีแก่วงการธุรกิจรับสร้างบ้าน เพราะทั้ง 4 บริษัทถือได้ว่าเป็นบริษัทที่ประสบผลสำเร็จและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี ดังนั้นน่าจะนำประสบการณ์มาช่วยพัฒนา และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเล็ก - กลาง มีความเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น "สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน" คือ เป้าหมายที่กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านริเริ่มขึ้นที่จะรวมตัวกัน เพื่อตอบโจทย์และผลักดันไปสู่การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน คงต้องรอการพิสูจน์อีกระยะหนึ่ง เพราะในโลกธุรกิจและผลประโยชน์ส่วนตัวมักจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวม ดังตัวอย่างของหลาย ๆ สมาคมที่จัดตั้งขึ้นมาและเกิดปัญหาความไม่ลงรอยกันของสมาชิก"
นายสิทธิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เห็นความร่วมมือกันของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นท่าทีของผู้บริหารหลายๆบริษัท ออกมากล่าวให้สัมภาษณ์กันบ่อยๆ แต่มาเริ่มชัดเจนและเป็นรูปธรรมก็เวลานี้เอง ซึ่งถือว่ายังไม่ช้าเกินไปที่ผู้ประกอบการจะรวมตัวกันทำกิจกรรม เพื่อจะพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจรับสร้างบ้าน แน่นอนว่าประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาวนั้นก็คือ กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านเอง แต่ทั้งนี้ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งและตั้งใจจริง อย่างไรก็ดีจากการประชุมหารือร่วมกันของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านครั้งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย และนับเป็นความสำเร็จของการเริ่มต้นทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมที่ดีในระดับหนึ่ง
สำหรับมูลค่าตลาดบ้านสร้างเอง คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่เฉพาะในตลาดรับสร้างบ้านปัจจุบันมีมูลค่ารวมอยู่ประมาณ 5,500 - 6,000 ล้านบาทหรือสูงกว่าเล็กน้อย โดยเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10 - 20 % ดังนั้นจะเห็นว่ายังมีตลาดบ้านสร้างเองนี้ใหญ่มาก และหากผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน จะขยายตลาดไปสู่ผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้าน โดยการสร้างรู้ความเข้าใจในธุรกิจรับสร้างบ้าน หรือรวมตัวกันทั้งรายเล็ก - รายใหญ่ เพื่อทำตลาดรับสร้างบ้านให้เป็นตลาดเดียวกัน ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อมาดูแลและส่งเสริม ผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างการยอมรับจากผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ คุณภัทธิรา บุรี หรือ คุณฤดี ธรรมเทียร
บริษัท โอเอซิส มีเดีย จำกัด โทร.0-2937-4658-9,0-2937-4735
อีเมลล์ : patthira@oasismedia.co.th, ruedee@oasismedia.co.th--จบ--
-นห-

แท็ก ซีคอน   โฟร์  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ