กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะขับขี่รถผ่านเส้นทางที่มีหมอกและควันไฟป่า ควรตรวจสอบสัญญาณไฟก่อนออกเดินทาง เปิดสัญญาณไฟหน้ารถ ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูง หลีกเลี่ยงการขับจี้ท้ายรถคันหน้า เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปีเป็นช่วงที่หลายพื้นที่มีหมอกหนา ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเตรียมพื้นที่การเกษตร โดยการเผาตอซังข้าว ทำให้เกิดปัญหาหมอกและควันไฟปกคลุมพื้นที่ ส่งผลให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางลดลง จึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าปกติ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะวิธีขับขี่ผ่านเส้นทางที่มีหมอกควันปกคลุม ดังนี้ ก่อนเดินทาง ตรวจสอบสัญญาณไฟให้สามารถใช้งานได้ดี ทำความสะอาดกระจกครอบสัญญาณไฟให้แสงไฟส่องสว่างชัดเจน ปรับระดับไฟสูง — ต่ำให้เหมาะสม หากหลอดไฟขาดให้จัดการเปลี่ยนใหม่ทันที ขณะเดินทาง เปิดสัญญาณไฟหน้ารถ จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น และทำให้ผู้ร่วมใช้เส้นทางรายอื่นมองเห็นรถเราในระยะไกล เปิดใช้ไฟตัดหมอก
เมื่อไม่สามารถมองเห็นเส้นทางในระยะ 100 เมตร พร้อมปรับระดับความสว่างของไฟหน้ารถตามสถานการณ์และทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทาง ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูง เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ จะได้มีเวลาและระยะเบรกที่ปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่เปลี่ยนช่องทางหรือหยุดรถกะทันหัน หากจะลดความเร็วให้ใช้วิธีแตะเบรกเป็นระยะ เพื่อเตือนรถที่ขับตามหลังมาให้เพิ่มความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการขับรถจี้ท้ายรถคันหน้ามากเกินไป ไม่เปิดใช้ไฟสูงตลอดเวลา เพราะแสงไฟจะสะท้อนเข้าตาผู้ขับขี่รถคันหน้า จนมองไม่เห็นเส้นทาง ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ขณะขับผ่านทางแยก ทางร่วมให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ใช้ไฟและเสียงรถแตรเป็นสัญญาณเตือนผู้ร่วมใช้เส้นทาง หากต้องเลี้ยวขวาบริเวณทางแยก ให้ตรวจสอบก่อนว่าไม่มีรถวิ่งผ่านมาจึงสามารถเลี้ยวได้ กรณีทัศนวิสัยแย่มาก ให้นำรถจอดในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น ที่พักรถริมข้างทาง สถานีบริการน้ำมัน หากไม่สามารถหาจุดจอดรถที่ปลอดภัยได้ ให้จอดรถบนไหล่ทางชิดริมขอบถนนมากที่สุด พร้อมเปิดสัญญาณไฟ และนำวัสดุหรือป้ายสะท้อนแสงมาตั้งด้านหลังรถในระยะไม่ต่ำกว่า 50 เมตร เพื่อเตือนให้ผู้ใช้เส้นทางรายอื่นมองเห็นได้ในระยะไกล สำหรับในกรณีที่มีละอองฝ้าเกาะกระจกรถ ให้เปิดที่ปัดน้ำฝนหรือใช้ผ้าแห้งเช็ดกระจกบริเวณที่เป็นละอองฝ้า พร้อมปรับลดอุณหภูมิภายในรถให้ต่ำกว่านอกรถ ลดระดับกระจกหน้าต่างลง จะทำให้ละอองฝ้าจางหายไป หากเป็นกระจกหลังให้เปิดปุ่มไล่ฝ้าที่มีตะแกรงขดลวดความร้อน แต่ห้ามเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลา เพราะจะส่งผลต่ออายุการใช้งานของกระจกรถ