กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ปกติมักได้ยินนายหน้าข้ามชาติและนักพัฒนาที่ดินไทยบางส่วนเรียกร้องให้ประเทศไทยเปิดให้ต่างชาติมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ในกรณีสิงคโปร์ กลับปรามการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติอย่างรุนแรง ประเทศไทยควรได้คิดจากกรณีศึกษานี้
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งศึกษาเปรียบเทียบกรณีศึกษาในต่างประเทศ ได้พบข่าวที่น่าสนใจว่า เมื่อปลายปี 2554 สิงคโปร์ได้ออกมาตรการใหม่ด้านการป้องกันการเก็งกำไร โดยกำหนดให้ชาวต่างชาติที่จะโอนอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย (ส่วนมากเป็นห้องชุดที่ภาคเอกชนสร้างขึ้น) ซึ่งสิงคโปร์อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อได้นั้น ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน 10% และสำหรับชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักอยู่ในสิงคโปร์ หากซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และชาวสิงคโปร์เองที่ซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 3 (ส่วนมากเป็นห้องชุด) ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน 3%
นายทาร์มา ชันมูการัตนัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าสิงคโปร์ยังเป็นตลาดเปิดอยู่และยังเปิดอยู่ตลอดไป แต่ในความเป็นจริง กระแสการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จากต่างประเทศมีสูงมากในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในสิงคโปร์ค่อนข้างต่ำ มาตรการนี้จะช่วยลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ราคา
จากข้อมูลของทางราชการพบว่า ราคาที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 19% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ซึ่งในกรณีกรุงเทพมหานคร ราคาเพิ่มขึ้นเพียง 2.5% และหากในกรณีห้องชุดใจกลางเมืองย่านปทุมวัน เพลินจิต ชิดลม ซึ่งเป็นทำเลที่ดีที่สุด ก็มีราคาเพิ่มขึ้นเพียง 15% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส และหากเทียบทั้งปี ราคาที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 25-30% ซึ่งถือว่าสูงกว่าไทยมาก อันอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่แตกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย
ในกรณีประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลออกมาตรการนี้โดยไม่เกรงว่าภาคเอกชนนักพัฒนาที่ดิน นายหน้า นักเก็งกำไร หรือนักลงทุนจะได้รับผลกระทบแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสิงโปร์เห็นความสำคัญของประเทศชาติมากกว่านักธุรกิจ ในการนี้บางท่านอาจให้ความเห็นว่านักลงทุนจะไม่มาโอนบ้านเพราะค่าโอนสูงถึง 10% แต่เชื่อว่ารัฐบาลสิงคโปร์มั่นใจว่าผู้ซื้อบ้านที่จ่ายเงินดาวน์ไปแล้ว คงไม่กล้าทิ้งเงินดาวน์ แต่การจองซื้ออสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ คงจะไม่มีในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นผลสะท้อนในปัจจุบันก็คือ หุ้นของบริษัทพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ทรุดต่ำลงเป็นอย่างมาก แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ไม่วิตกกับกรณีนี้
สิงคโปร์เคยอนุญาตให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยได้ตั้งแต่ชั้นที่ 5 ขึ้นไปในช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 2540 แต่หลังจากวิกฤติก็อนุญาตให้ต่างชาติซื้อได้ทั้งหมด แต่ในขณะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ก็ไม่มีใครมาซื้ออสังหาริมทรัพย์มากนัก แฟลตของการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ กลับว่างจำนวนมหาศาล อุปสงค์ขาดหายไป แต่เนื่องจากความร้อนแรงของเศรษฐกิจสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ทำให้อสังหาริมทรัพย์กลายเป็นสินค้าเก็งกำไรของทั้งชาวสิงคโปร์และชาวต่างชาติไปจนรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมต่าง ๆ หลายมาตรการ โดยมาตรการการเพิ่มค่าธรรมเนียมโอนนี้เป็นมาตรการล่าสุด