กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สกว.
4 ปีของ 7 ศูนย์ความเป็นเลิศฯ สู่ 2 พันห้าร้อยคน และ1 พันผลงาน เพื่อรับใช้การพัฒนาประเทศบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)
ความไม่สามารถพึ่งตนเองได้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ไทยต้องสูญเสียเม็ดเงินมหาศาลในการนำเข้าความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างเกินความพอดี เป็นหนึ่งในสาเหตของวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาดังกล่าว ต้องการทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถระดับสูงที่สามารถเป็น "นาย" ของเทคโนโลยีได้ ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นต้องใช้ทั้งระยะเวลาและงบประมาณ รวมถึงมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สร้างบุคลากรดังกล่าว อย่างต่อเนื่องและจริงจัง
จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2542 ได้อนุมัติเงินกู้จากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย จำนวน 59.32 ล้านเหรียญ เพื่อจัดทำ "โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" (Higher Education Development Project - HEDP) ภายใต้การดำเนินการของทบวงมหาวิทยาลัย (ปัจจุบันคือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา-สกอ.) ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าว ได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ใน 7 สาขาคือ (1) เคมี (2) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (3) การจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย (4) ปิโตรเลียมและเทคโนโลยีปิโตรเคมี (5) พลังงานและเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม (6) เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร และ (7) เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เมื่อปี 2543
รศ.ดร.ชัยยุทธ ขันทปราบ ผู้อำนวยการ HEDP กล่าวว่า ประเทศไทยมีความล้าหลังด้านการวิจัยและพัฒนา เพราะมีการลงทุนด้านนี้ค่อนข้างต่ำ ประกอบกับข้อจำกัดของทางมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย รวมถึงภาคเอกชนทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม การทำให้บัณฑิตศึกษาและการวิจัยมีความเข้มแข็งจึงเป็นภาระกิจสำคัญของ HEDP ที่ต้องดำเนินการเชิงรุกแบบก้าวกระโดดเพื่อให้เกิดการสร้างบุคลากรทั้ง 7 สาขาได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง อันจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น
ตลอด 4 ปีของศูนย์ความเป็นเลิศฯ ทั้ง 7 แห่ง ซึ่งมีเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่าง 14 สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย ปัจจุบันได้รับนักศึกษาเข้าสู่โครงการทั้งปริญญาโทและเอกกว่า 2 พันห้าร้อยคน และมีผู้จบการศึกษาไปแล้วกว่า 800 คน (ป.เอก 63 คน ป.โท 805 คน) พร้อมกับผลิตผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์รวมถึงการนำเสนอผลงานทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศรวมแล้วกว่าหนึ่งพันชิ้น (ระดับชาติ 513 ชิ้น ระดับนานาชาติ 684 ชิ้น) ที่นอกจากผลในทางตรงในการเพิ่มค่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากสถาบันจัดอันดับแล้ว ผลระยะยาวยังช่วยความเข้มแข็งและพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น
ในโอกาสที่ศูนย์ความเป็นเลิศฯ ทั้ง 7 ได้ดำเนินภารกิจมาครบ 4 ปี HEDP จึงร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติ และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดการประชุมและสัมมนาวิชาการเรื่อง "ศูนย์ความเป็นเลิศกับการพัฒนาประเทศ" ในวันศุกร์ที่ 26 มีนาคมนี้ ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ เพื่อนำเสนอสิ่งที่ศูนย์ความเป็นเลิศฯ ทั้ง 7 ได้ดำเนินการมาตลอด
รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า ในวันดังกล่าว วัตถุประสงค์หลัก ๆ ของงานดังกล่าวคือ การเปิดตัวของศูนย์ความเป็นเลิศฯ กับผู้ใช้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งมีตั้งแต่ภาคราชการ เอกชน อุตสาหกรรม เกษตรกร ซึ่งนอกเหนือจากการอภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อการแข่งขันของไทยในเวทีโลกแล้ว ภายในงานจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยในด้านต่าง ๆ ทั้งพลังงาน สิ่งแวดล้อม เกษตร ฯลฯ นับร้อยชิ้น ที่คัดสรรแล้วว่ามีผลต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในรูปแบบของนิทรรศการและแบบจำลอง
ตัวอย่างของผลงานวิจัยที่จะนำมาแสดง คือ งานวิจัย 'ไพล' เพื่อการส่งออก ทั้งน้ำมันหอมระเหย เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ในธุรกิจสปา ที่ได้ทั้งมาตรฐานและเป็นการสร้างและบุกเบิกตรายี่ห้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรในตลาดโลก การพัฒนาเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (Synthetic Fuel) เพื่อทดแทนการใช้น้ำมัน งานวิจัยเครื่องกังหันน้ำขนาดเล็กสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ที่สามารถใช้ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ หรืองานวิจัยด้านเกษตรอย่างถั่วเหลืองที่มีอายุการเก็บได้นาน หรืองานปรับปรุงสายพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่กำลังมีความพยายามของภาครัฐที่จะผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ รวมถึงงานวิจัยเครื่องเกี่ยวนวดข้าวประสิทธิภาพสูงที่สามารถเพิ่มปริมาณของข้าวเปลือกคุณภาพให้มากขึ้น
"จากการประเมินการทำงานที่ผ่านมา เราค่อนข้างพอใจกับปริมาณของบุคลากรและผลงานวิชาการที่แต่ละศูนย์ทำได้ ดังนั้นสิ่งที่เราเสนอกับรัฐบาลสำหรับโครงการระยะต่อไป เราจะมุ่งไปที่ 'คุณภาพของบัณฑิต' และคุณภาพของงานวิจัยให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็จะเน้นให้เป็นงานวิจัยที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น พร้อมกับตั้งเป้าว่า ในอนาคตศูนย์ความเป็นเลิศฯ จะเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค และเป็นทางเลือกหนึ่งในการศึกษาต่อระดับสูงของนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (พม่า, จีนตอนใต้, ลาว, กัมพูชา,เวียดนาม)" รศ.ดร. ชัยยุทธ กล่าว
สำหรับสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมการประชุมเชิงวิชาการ "ศูนย์ความเป็นเลิศกับการพัฒนาประเทศ" ในวันศุกร์ที่ 26 นี้ที่ตึกสหประชาชาติ (ถ.ราชดำเนิน) สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ "โครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" โทร. 0-2252-9467-8
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ JGSEE--จบ--
-นท-